European Green Deal เป็นแผนนโยบายการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียวให้สหภาพยุโรปมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน โดยการเปลี่ยนความท้าทายใหม่ของโลกที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมจึงได้ประกาศเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 55 ภายในปี 2573 (2030) และจะมุ่งไปสู่ทวีปที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 (2050) เป้าหมายดังกล่าวทำให้สหภาพยุโรปเริ่มปฏิรูปกฎระเบียบ และมาตรการต่างๆ ครอบคลุมในทุกมิติ
สนามบินริกา (RIX) ของลัตเวียตระหนักถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการรับมือกับสภาวะอากาศสุดขั้ว เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง และพายุรุนแรง ที่มีแนวโน้มเกิดขึ้นบ่อยครั้งและทวีความรุนแรงในปัจจุบัน อันเป็นผลจากภาวะโลกร้อน จึงพร้อมตอบแนวนโยบายของสหภาพยุโรปเพื่อเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยผู้บริหารสนามบินริกาได้เห็นชอบปรับแผน road map การดำเนินการไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ให้เร็วขึ้นเป็นภายในปี 2578 (2035) แม้ว่า แต่เดิม Airports Council International Europe (ACI Europe) ได้ประกาศที่จะไปสู่เป้าหมายการกําจัดคาร์บอน หรือ “NetZero 2050” ในปี 2593 สนามบินริกา และสนามบินอื่นๆ ในภูมิภาคยุโรป ต่างเชื่อว่า หากดำเนินการตามแผนงานอย่างจริงจังแล้ว สามารถบรรลุเป้าหมายได้ก่อนในปี 2578
สนามบินริกาของลัตเวียนับเป็นผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มีความมุ่งมั่นที่จะปรับเปลี่ยนไปสู่การปลดปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์อย่างจริงจัง เมื่อปี 2566 สนามบินริกาถูกจัดอันดับโดย Institute of Corporate Sustainability and Responsibility ของลัตเวีย ให้อยู่ในกลุ่ม Diamond Category ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมสูง และมุ่งลดคาร์บอนเพื่อรองรับการแก้ไขปัญหาโลกร้อนอย่างยั่งยืน มีดัชนีแห่งความยั่งยืนหรือ Sustainability Index อยู่ในระดับสูงสุด สนามบินริกาได้วางแผนที่จะเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนในสนามบินให้มากขึ้น พร้อมกับปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ทำความร้อนของสนามบิน ตลอดจนเปลี่ยนการใช้เครื่องยนต์ที่สันดาปภายใน (internal combustion engines : ICE) เพื่อก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนอย่างเป็นรูปธรรม อาทิ การตั้งเป้าที่จะซื้อ green energy เพื่อนำมาใช้ในสนามบินเพิ่มขึ้นปีละ 10% ควบคู่ไปกับการใช้พลังงานแสงอาทิตย์จาก solar park ของสนามบิน ซึ่งคาดว่าจะเป็นสัดส่วนสูงถึง 14%ของการใช้ไฟฟ้าทั้งหมดในปี 2569 (2026)
สำหรับแผนงานระยะสั้น ในปีนี้ สนามบินริกาได้เปลี่ยนรถบัสรับ-ส่งผู้โดยสารเครื่องยนต์สันดาปมาเป็นรถบัสไฟฟ้าหรืออีวี และปีหน้า 2568 (2025) ทางสนามบินจะทยอยเปลี่ยนมาใช้เชื้อเพลิงสังเคราะห์สำหรับอากาศยานเพิ่มขึ้นเฉลี่ยอย่างน้อยปีละ 10% จนถึงปี 2578 สนามบินจะยกเลิกการใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิลอย่างสิ้นเชิง
ข้อมูลเพิ่มเติม/ข้อคิดเห็นของสคต.
ปัจจุบัน การรับมือกับปัญหาโลกร้อน ตลอดจนภัยธรรมชาติที่เกิดจากอุณหภูมิโลกแปรปรวน เป็นโจทย์ท้าทายสำหรับประชาคมโลก โดยหลายประเทศ ทั้งสหภาพยุโรป สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ กำลังเร่งปรับปรุงนโยบายปฏิรูปภาคอุตสาหกรรมภายในประเทศของตนเองเพื่อขับเคลื่อนสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ธุรกิจและอุตสาหกรรมของไทยที่อยู่ในข่ายที่ปล่อยคาร์บอนสูง จำเป็นต้องรีบเร่งปรับตัวให้ทันกับทั่วโลกที่เดินหน้าไปอย่างรวดเร็ว ทำอย่างไรให้สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก ท่ามกลางความเข้มข้นของกฎระเบียบและมาตรการทางการค้า อย่างเช่นมาตรการ CBAM ที่มีนัยต่อการดำเนินธุรกิจในอนาคต
ที่มา: The Baltic Times 2024-08-15