วอร์ซอเมืองหลวงต้องห้ามพลาดอันดับ 4 ของยุโรป

VisaGuide.World ประกาศผลการจัดอันดับเมืองหลวงของยุโรปที่น่าท่องเที่ยวในปี 2567 นี้ โดยมีกรุงวอร์ซอติดอันดับ 4 จากการมีสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมและสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์กระจายอยู่ทั่วไปในเมือง มีกิจกรรมทางศิลปะ วัฒนธรรม ร้านอาหารนานาชาติให้บริการนักท่องเที่ยวอย่างพรั่งพร้อม ความสะดวกปลอดภัยของนักท่องเที่ยวในการสามารถเดินชมสถานที่ต่างๆ ในเมือง และกฎระเบียบจราจรที่เคร่งครัดเอื้อประโยชน์ให้แก่คนเดินเท้าอย่างที่สุด นอกจากนี้ วอร์ซอยังมีค่าครองชีพที่ไม่แพง เพียงสัปดาห์ละ 395 ยูโร หรือราว 15,800 บาท และมีการใช้ภาษาอังกฤษได้ดีในภาคการท่องเที่ยวอีกด้วย

 

สำหรับเมืองหลวงที่น่าท่องเที่ยวอันดับที่ 1 ได้แก่ กรุงลิสบอน ที่นำโด่งในเรื่องค่าครองชีพที่ไม่แพง และ safety score อันดับ 2 ได้แก่ กรุงอัมสเตอร์ดัม ซึ่งลงมาจากอันดับ 1 ในปีที่แล้ว เนื่องจากค่าครองชีพกระโดดจาก 315 ยูโร (12,600 บาท) ต่อสัปดาห์ ขึ้นมาเป็น 465 ยูโร (18,600 บาท) ต่อสัปดาห์ในปีนี้ แต่ที่ครองใจนักท่องเที่ยว คือ การมีอัธยาศัยไมตรีที่ดีและใช้ภาษาอังกฤษอย่างกว้างขวางทำให้นักท่องเที่ยวรู้สึกสะดวกสบายในการติดต่อปฏิสัมพันธ์ อันดับที่ 3 ได้แก่ กรุงปราก ซึ่งขึ้นมาจากลำดับที่ 7 ในปีที่แล้ว โดดเด่นเรื่องความสวยงามของบ้านเมืองและค่าครองชีพที่ไม่แพง

 

ข้อมูลเพิ่มเติม/ข้อคิดเห็นของสคต.
1. องค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ หรือ UN World Tourism Organization ได้พยากรณ์ว่า ในปี 2567 นี้ การท่องเที่ยวระหว่างประเทศจะมีการขยายตัวได้ราวร้อยละ 2 จากเดิมในปี 2562 ก่อนสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และในปี 2566 ที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมายังยุโรปแตะระดับร้อยละ 94 ของปี 2562

2. ยุโรปเป็นดินแดนที่เต็มไปด้วยศิลปะ วัฒนธรรม สถาปัตยกรรมที่เก่าแก่และงดงาม อีกทั้งยังมีธรรมชาติที่น่ามหัศจรรย์ ควบคู่ไปกับความก้าวล้ำนำยุคของงานดีไซน์ แบรนด์เนมสุดหรู ดึงดูดขาช้อปให้ต้องมนต์เสน่ห์ หลงใหลอยากได้มาเป็นเจ้าของ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน การท่องเที่ยวมีเทรนด์เปลี่ยนไปจากเดิมที่เน้นความหรูหราฟู่ฟ่า ไปเน้นที่การออกหาประสบการณ์แปลกใหม่ ที่ให้ความสุขทางใจ และหันมาใส่ใจในสุขภาพมากขึ้น นักท่องเที่ยวจึงมีปัจจัยในการเลือกจุดหมายปลายทางที่เปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน

3. ปัจจัยดังกล่าวสะท้อนถึงพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวที่เปิดกว้างมากขึ้น และให้ความใส่ใจในสิ่งแวดล้อมพร้อมกับความยั่งยืนของชุมชน เป็นโอกาสในการสร้างตลาดสำหรับสินค้าและบริการที่มีความพิเศษเฉพาะเจาะจง มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งเป็นความแตกต่างที่มีเสน่ห์และน่าค้นหา นอกเหนือจากรูปแบบการท่องเที่ยวเดิม อาทิ เช่น การท่องเที่ยวเชิงอาหาร (gastronomy tourism) การท่องเที่ยวเชิงมรดกทางวัฒนธรรม (cultural heritage) และการท่องเที่ยวเชิงวิถีชีวิต (lifestyles) เป็นต้น ซึ่งธุรกิจท่องเที่ยวของไทยควรจับเทรนด์ท่องเที่ยวใหม่นี้ให้ทันและปรับตัวให้เร็วเรียนรู้ให้เท่าทันความต้องการของนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไปอย่างต่อเนื่อง

 

ที่มา: visaguide.world

en_USEnglish