ตลาดแรงงานในสหรัฐฯ

เมื่อ 4 ปีที่แล้วการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้ตลาดแรงงานสหรัฐอเมริกาหดตัวลงอย่างรวดเร็ว ถึงแม้ว่าปัจจุบันตลาดแรงงานสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง แต่ตัวเลขการจ้างงานในเดือนมิถุนายน 2567 นี้แสดงให้เห็นว่ามีการเติบโตช้าลงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า

 

ตลาดแรงงานในสหรัฐฯ

 

กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ รายงานว่าการจ้างงานในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 206,000 ตำแหน่งงานเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ซึ่งขณะนี้การจ้างงานเติบโตต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 42 เดือนติดต่อกัน ในขณะที่อัตราการว่างงานสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 4.1 จากร้อยละ 4 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่อัตราการว่างงานมากกว่าร้อยละ 4 จากเดือนพฤศจิกายน 2564

 

การเติบโตของการจ้างงานในสหรัฐฯ มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้เล็กน้อย แต่ตัวเลขการจ้างงานของ 2 เดือนล่าสุดทำให้เห็นว่าตลาดแรงงานสหรัฐฯ อยู่ในภาวะชะลอตัวลง และอัตราการว่างงานมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทำให้นักเศรษฐศาสตร์และนักลงทุนเริ่มกังวลกับสถานการณ์ของตลาดแรงงานสหรัฐฯ หลังจากที่นักเศรษฐศาสตร์เคยประเมินว่าตลาดแรงงานสหรัฐฯ อยู่ในระดับที่แข็งแรง

 

Ms. Claudia Sahm หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของบริษัทจัดการการลงทุน New Century Advisors ให้ความเห็นว่าตัวเลขการจ้างงานยังอยู่ในระดับที่ดี จึงไม่ควรมองตลาดแรงงานสหรัฐฯ ในแง่ลบมากเกินไปนัก ตัวเลขการว่างงานเพียงช่วยให้นักเศรษฐศาสตร์สามารถคาดการณ์ได้ว่าตลาดแรงงานจะมีทิศทางอย่างไร โดยอัตราการว่างงานได้เพิ่มขึ้นจากจุดต่ำสุดในรอบ 50 ปีที่ร้อยละ 3.4 ในช่วงต้นปี 2566 ที่ผ่านมา

 

การเพิ่มขึ้นของค่าแรงในสหรัฐฯ ยังคงตัว โดยค่าแรงเฉลี่ยต่อชั่วโมงในเดือนมิถุนายน 2567 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 จากเดือนก่อนหน้า และเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 จากปีก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม ข่าวดีคืออัตราค่าแรงเฉลี่ยนี้สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ มาเกือบ 1 ปีแล้ว

 

ตลาดแรงงานในสหรัฐฯ

 

การตอบสนองของตลาดสหรัฐฯ ต่อตัวเลขการจ้างงานที่ชะลอตัวลงมีไม่มากนัก โดยตลาดหุ้นยังปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม พบว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ลดลง สะท้อนให้เห็นว่านักลงทุนคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจมีการลดดอกเบี้ยนโยบาย

 

อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่มากกว่าร้อยละ 5 มานานกว่า 1 ปีแล้ว จากที่อัตราดอกเบี้ยเคยอยู่ที่ระดับเกือบร้อยละ 0 ในช่วงต้นปี 2565 ผลมาจากธนาคารกลางสหรัฐฯ พยายามควบคุมอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ทำให้การขึ้นอัตราดอกเบี้ยส่งผลกระทบต่อการกู้ยืมของภาคธุรกิจและครัวเรือนมากกว่าที่คาดการณ์ไว้

 

นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คาดว่าการจ้างงานและการเติบโตของค่าจ้างจะชะลอตัวลงจนกว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะผ่อนคลายหลักเกณฑ์ในการกู้ยืมเงิน แต่ทั้งนี้ ปัจจุบันการเลิกจ้างงานสหรัฐฯ อยู่ในระดับที่ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ แต่ตัวชี้วัดการจ้างงานมีแนวโน้มลดลงอย่างมาก หมายความว่าคนจำนวนหนึ่งที่ตกงานจะพบปัญหาในการหางานใหม่ที่ยากมากขึ้น

 

การจ้างงานที่เพิ่มขึ้นพบว่าประมาณ 3 ใน 4 ของการจ้างงานเพิ่มขึ้นจากอุตสาหกรรมสุขภาพ การบริการทางสังคม การจ้างงานของภาครัฐ ซึ่งการจ้างงานของภาครัฐส่วนใหญ่มาจากทั้งการจ้างงานของภาครัฐในส่วนกลางและในส่วนท้องถิ่น หลังจากที่ภาครัฐขาดแคลนแรงงานมาเป็นเวลานาน นอกจากนี้ ประชากรสูงวัยในสหรัฐฯ มีความต้องการด้านการบริการสุขภาพสูงขึ้น ทำให้บุคลากรสุขภาพเป็นที่ต้องการมากขึ้น สำหรับอุตสาหกรรมการผลิตและการค้าปลีกมีการเลิกจ้างงานเล็กน้อย

 

ตลาดแรงงานในสหรัฐฯ

 

นักเศรษฐศาสตร์มีความเชื่อมั่นในตลาดแรงงานสหรัฐฯ เนื่องจากการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นพบว่ามาจากหลายภาคอุตสาหกรรม ทำให้เห็นว่าภาคเอกชนเริ่มเข้ามาขับเคลื่อนในตลาดแรงงงานสหรัฐฯ มากขึ้น

 

นาย Nick Bunker ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยทางเศรษฐกิจของเว็บไซต์หางาน Indeed กล่าวว่าบนเว็บไซต์มีการประกาศรับสมัครงานน้อยลง จึงอาจอธิบายสาเหตุการเพิ่มขึ้นของอัตราการว่างงานได้บางส่วน ซึ่งพบว่าตัวเลขของผู้ว่างงานมากกว่า 27 สัปดาห์ขึ้นไปมีจำนวนเพิ่มขึ้น และสูงกว่าค่าเฉลี่ยอัตราการว่างงานในช่วงก่อนการแพร่ระบาดโควิด-19 (ปี 2560-2562)

 

นักวิเคราะห์บางคนมีความกังวลจุดยืนของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับสูงเพราะจะทำให้ตลาดแรงงานสหรัฐฯ เปราะบางมากขึ้น โดยอัตราเงินเฟ้อปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 2.6 แต่เป้าหมายอัตราเงินเฟ้อของธนาคารกลางอยู่ที่ร้อยละ 2 อย่างไรก็ดี ธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้ส่งสัญญาณว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ พร้อมที่ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายทันทีหากตลาดแรงงานสหรัฐฯ ปรับตัวลง ทั้งนี้ ผู้กำหนดนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ จะมีประชุมกันในปลายเดือนกรกฎาคมและกันยายน 2567 นี้ อย่างไรก็ดี นักลงทุนและนักวิเคราะห์การลงทุนเห็นว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ ควรลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเร็วๆ นี้ หลังจากตัวเลขการจ้างงานออกมาไม่ดีเท่าที่ควร

 

ภาพรวมการเงินของครัวเรือนชาวอเมริกันอยู่ในระดับที่แข็งแรงกว่าช่วงก่อนการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยข้อมูลเงินฝากของชาวอเมริกัน ณ สิ้นปี 2562 อยู่ที่ 980,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ปัจจุบันตัวเลขดังกล่าวอยู่ที่ 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ การเพิ่มขึ้นของความมั่งคั่งได้กระจายตัวไปยังผู้ที่มีฐานะร่ำรวยและคนธรรมดา โดยครัวเรือนที่มีความมั่งคั่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยมีทรัพย์สินรวมอยู่ที่ 3.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐจาก 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 สำหรับลูกจ้างที่ไม่ใช่ระดับผู้จัดการพบว่าลูกจ้างจำนวน 8 ใน 10 มีค่าจ้างเติบโตมากกว่าการเติบโตของค่าจ้างเฉลี่ย

 

เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาได้สร้างความท้าทายให้กับภาคธุรกิจอย่างมาก โดยเฉพาะธุรกิจที่มีทรัพยากรน้อย เนื่องจากสถาบันการเงินพิจารณาให้สินเชื่อที่เข้มงวดมากขึ้น ธุรกิจจึงต้องบริหารจัดการการเงินภายในบริษัทและระดมทุนจากหุ้นส่วนเพื่อขยายกิจการ อย่างไรก็ดี ศักยภาพในการปรับตัวและความสามารถในการทำกำไรของสหรัฐฯ ทำให้สหรัฐฯ สามารถหลีกเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอยมาได้ จากผลการสำรวจของภาคธุรกิจพบว่าภาคธุรกิจหลายรายรอให้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายก่อนจึงจะจ้างงานระลอกใหม่หรือเพิ่มการลงทุน

 

ตลาดสหรัฐฯ กำลังตั้งคำถามว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ทันเวลาหรือไม่ เพื่อให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ สามารถขยายตัวต่อไปได้ ซึ่งหากตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจในการสนับสนุนการลดอัตราดอกเบี้ยเพียงพอก็คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะดำเนินการลดอกเบี้ยในไม่ช้า ทั้งนี้ ในช่วงฤดูร้อนนี้ข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index: CPI) จะส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจของธนาคารกลางสหรัฐฯ

 

ข้อเสนอแนะของสคต. นิวยอร์ก

อัตราการจ้างงานและอัตราการว่างงานแสดงให้เห็นว่าตลาดแรงงานสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอตัวลง แต่ยังคงมีความแข็งแกร่งอยู่ ซึ่งอัตราการจ้างงานและการดำเนินนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ นับเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อการขับเคลื่อนของเศรษฐกิจในสหรัฐฯ ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยและผู้ส่งออกไทยจึงควรติดตามปัจจัยที่อาจส่งผลต่อสถานการณ์เศรษฐกิจของสหรัฐฯ เพื่อประกอบการตัดสินใจในการวางแผนการดำเนินงานและปรับแผนกลยุทธ์ธุรกิจให้ทันตามสถานการณ์การเปลี่ยนแปลง

 

ข้อมูลอ้างอิง: NYTimes

en_USEnglish