ทุเรียน ถือเป็นหนึ่งในผลไม้นำเข้าที่ชาวไต้หวันจำนวนมากชื่นชอบมากที่สุด โดยในอดีต การนำเข้าทุเรียนของไต้หวันมาจากไทยทั้งหมด ซึ่งปี 2545 ไต้หวันนำเข้าทุเรียนมากถึง 38,649 ตันจากไทย แต่จากความนิยมบริโภคทุเรียนในประเทศจีนและการมาตั้งล้งของชาวจีนในเมืองไทยเพื่อการส่งออกไปยังประเทศจีน ส่งผลให้การส่งออกทุเรียนไทยมายังไต้หวันมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ โดยในปี 2566 ปริมาณการนำเข้าทุเรียนโดยรวมของไต้หวันลดเหลือเพียง 8,465 ตัน ลดลงจากปีก่อนหน้าร้อยละ 68.9 และลดลงจากปี 2545 มากถึงร้อยละ 78.1 (นำเข้าจากไทย 2,189 ตัน ลดลงจากปี 2545 ร้อยละ 94.3) ซึ่งเป็นหารเปิดโอกาสให้ทุเรียนจากเวียดนามซึ่งในขณะนั้นยังไม่สามารถส่งออกไปจีนได้ เข้ามาช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดในไต้หวันอย่างรวดเร็ว โดยตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา เวียดนามกลายเป็นแหล่งนำเข้าทุเรียนอันดับ 1 แทนที่ไทยในตลาดไต้หวัน การที่ไทยเน้นไปมุ่งส่งออกตลาดจีนเป็นหลัก นอกจากจะส่งผลให้ปริมาณการนำเข้าทุเรียนจากไทยของไต้หวันมีจำนวนลดลงเรื่อยๆ แล้ว ราคาทุเรียนของไทยยังแพงขึ้น และรสชาติก็ไม่ดีดังเดิม
จากสถิติของ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ชี้ว่า ในปี 2546 ปริมาณการส่งออกทุเรียนโดยรวมทั่วโลกในปี มีประมาณ 80,000 ตัน แต่ความต้องการที่พุ่งสูงขึ้นโดยเฉพาะจากตลาดจีน ดึงดูดใหมีการปลูกทุเรียนและส่งออกมากขึ้น โดยปริมาณการส่งออกทุเรียนในปี 2565 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 870,000 ตัน ซึ่งในจำนวนนี้ทุเรียนไทยครองสัดส่วนกว่าร้อยละ 90 โดยที่เวียดนามและมาเลเซียต่างก็ครองสัดส่วนประมาณร้อยละ 3 ส่วนฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียมีการส่งออกเพียงเล็กน้อย โดยมีตลาดสำคัญ คือ จีน ที่มีสัดส่วนร้อยละ 95 รองลงมาได้แก่สิงคโปร์ ด้วยสัดส่วนร้อยละ 3 ในขณะที่ไต้หวันนำเข้าคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.6 สำหรับในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ ไต้หวันนำเข้าทุเรียนสดรวม 2,989 ตัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 19.73 โดยนำเข้าจากเวียดนามมากที่สุด ด้วยปริมาณ 1,574 ตัน (ลดลงร้อยละ 18.09) รองลงมา คือ ไทย (ปริมาณ 1,414 ตัน ลดลงร้อยละ 21.49)
ปริมาณความต้องการบริโภคทุเรียนที่สูง ดึงดูดให้หลายประเทศพยายามเพาะปลูกทุเรียนเอง โดยไต้หวันมีความพยายามในการวิจัยเพื่อให้สามารถเพาะปลูกทุเรียนเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว โดยที่กระทรวงเกษตรไต้หวันได้มีความร่วมมือในการพัฒนาพันธุ์ร่วมกับเกษตรกรท้องถิ่น ล่าสุด สวนทุเรียนแห่งแรกของไต้หวัน คือ Mory Durian Farm ตั้งอยู่บนเนื้อที่ประมาณ 6 ไร่กว่าในเขตตำบลขันติ่ง เมืองผิงตง ซึ่งอยู่ทางใต้สุดของเกาะไต้หวัน เจ้าของสวนเป็นอดีตอาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีผิงตง ซึ่งเห็นโอกาสที่ยังไม่มีผู้ปลูกทุเรียนในเชิงพาณิชย์ในไต้หวัน จึงทำการศึกษาค้นคว้าเป็นเวลานานถึง 13 ปี ก่อนจะประสบความสำเร็จในการปลูกต้นทุเรียน ที่สามารถให้ผลผลิตได้ภายในเวลาเพียง 4 ปีหลังจากเพาะปลูก และยังควบคุมให้ทุเรียนไต้หวันออกผลในช่วงฤดูใบไม้ร่วง ซึ่งเป็นช่วง Low Season ของผลไม้ไต้หวัน มีผลไม้ออกสู่ตลาดน้อย สวนดังกล่าวปลูกทุเรียนไว้มากถึง 10 กว่าสายพันธุ์ แต่พันธุ์ที่มีจำนวนมากที่สุด คือ มูซันคิง หนามดำ และหมอนทอง ในขณะที่ทุเรียนสายพันธุ์อื่นยังไม่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจมากพอ ในชั้นนี้จึงเป็นการปลูกเพื่อการวิจัยร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและวิชาการมากกว่า ทุเรียนมูซันคิงจาก Mory Durian Farm สามารถขายได้ในราคากิโลกรัมละประมาณ 660 บาท หรือประมาณ 2,640 ต่อลูก ซึ่งถูกกว่าทุเรียนมูซันคิงแช่เย็นนำเข้าจากมาเลเซีย ซึ่งวางขายในไต้หวันที่ราคาประมาณ 2,000 บาท/กิโลกรัม แม้ความหวานและหอมจะเทียบกับทุเรียนนำเข้าไม่ได้แต่เน่องจากเป็นทุเรียนสดและยังมีปริมาณผลผลิตไม่มาก ทำให้ขายหมดอย่างรวดเร็ว โดยปัจจุบันมีวางจำหน่ายเฉพาะช่องทางออนไลน์เท่านั้น
ปัจจุบัน มีการปลูกทุเรียนในไต้หวันบนเนื้อที่รวมประมาณ 940 ไร่ ทำให้ผลผลิตมีแนวโน้มเข้าสู่ตลาดมากขึ้นเรื่อยๆ โดยคาดว่าภายในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า จะมีทุเรียนไต้หวันวางจำหน่ายในปริมาณมากจนทำให้ราคาลดลงมาจนใกล้เคียงกับทุเรียนนำเข้า แต่ทุเรียนไต้หวันมีข้อได้เปรียบที่สามารถตัดทุเรียนในช่วงที่กำลังพอดีสุกได้ ทำให้ทุเรียนมีความสดและเข้ากับควมชื่นชอบของชาวไต้หวันที่นิยมการบริโภคผลไม้ของไต้หวัน อีกทั้งยังไม่มีปัญหาสารตกค้าง จึงทำให้มีโอกาสสูงที่จะกลายเป็นคู่แข่งสำคัญของทุเรียนนำเข้าจากทั้งไทยและเวียดนาม
ที่มา: SET TV / News & Market / Yahoo! News (July 4-8, 2024)
ข้อเสนอแนะ/ความคิดเห็นของ สคต.
ความสำเร็จในการปลูกทุเรียนเชิงพาณิชย์ตลาดไต้หวันที่เป็นผลสำเร็จที่เกิดขึ้นจากความพยายามในการค้นคว้าวิจัยอย่างเต็มที่ของหน่วยงานภาครัฐที่ทำงานร่วมกับเกษตรกรไต้หวัน โดยนอกจากการขายทุเรียนสดในแบรนด์ของ Mory Durian Farm แล้ว ทางสวนยังจำหน่ายต้นอ่อนของทุเรียนพันธุ์มูซันคิง หนามดำ และชะนี พร้อมทั้งเปิดคอร์สสอนการปลูกทุเรียนเพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ให้เกษตรกรที่สนใจ ถือเป็นสัญญาณเตือนสำหรับผู้ส่งออกไทยด้วยว่า ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า หลังจากที่ผลผลิตทุเรียนของไต้หวันสามารถออกสู่ตลาดได้อย่างเต็มที่ จะส่งผลกระทบต่อการนำเข้าทุเรียนจากทั้งไทยและเวียดนามอย่างแน่นอน โดยนอกจากทุเรียนแล้ว กระทรวงเกษตรไต้หวันยังประสบความสำเร็จในการปลูกเงาะและมังคุดในเชิงพาณิชย์ร่วมกับเกษตรกรไต้หวันด้วย ดังนั้น ผู้ส่งออกไทยจึงควรเร่งหามาตรการรับมือแต่เนิ่นๆ เช่นการพัฒนาคุณภาพ และการทำ Branding เพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในระยะยาวต่อไป