ในการเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการของนาย เวือง ดิ่ง เหวะ (Vuong Dinh Hue) ประธานสภาแห่งชาติเวียดนาม กระทรวงการวางแผนและการลงทุนเวียดนาม (Ministry of Planning and Investment: MPI) ระบุว่า เวียดนามมีแผนเริ่มสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูง 2 สาย เชื่อมต่อกรุงฮานอยกับประเทศจีนคาดการณ์จะแล้วเสร็จภายในปี 2573 ซึ่งเป็นอีกสัญญาณหนึ่งที่แสดงว่าความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศที่มีความแน่นแฟ้นมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา
โดยหนึ่งในเส้นทางรถไฟความเร็วสูงที่วางแผนไว้จะเชื่อมโยงนครไฮฟอง- จังหวัดกว๋างนิญ- กรุงฮานอย- จังหวัดหล่าวกาย- มณฑลยูนนาน (จีน) ส่วนอีกเส้นทางจะเชื่อมโยงกรุงฮานอยไป- จังหวัดหลั่งเซิน- มณฑลกว่างซี ซึ่งจะผ่านพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่น และยังเป็นพื้นที่ที่มีโรงงานจากบริษัทนานาชาติ ซึ่งบางโรงงานเป็นของนักลงทุนจากจีน
ความร่วมมือดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากเวียดนาม และจีนได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือหลายฉบับ โอกาสที่
นาย Xi Jinping ประธานาธิบดีจีนเยือนกรุงฮานอย เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2566 ซึ่งรวมถึงการลงนามข้อตกลงเกี่ยวกับรถไฟความเร็วสูงด้วย ในการประชุมร่วมกับนายเล่อจี่ (Zhao Leji) หัวหน้าคณะกรรมาธิการประจำสภาประชาชนแห่งชาติจีน
นาย เวือง ดิ่น เวห์ (Vuong Dinh Hue) ประธานสภาแห่งชาติเวียดนามเสนอให้ฝ่ายจีนกำหนดแนวทางทีช่วยอำนวย
ความสะดวกในการขนส่งทางรถไฟจากเวียดนามไปจีนต่อไปยังยุโรป นอกจากนี้ยังเสนอให้ร่วมมือในการสร้างโครงการรถไฟขนาดมาตรฐานหลายโครงการระหว่าง ฮานอย – หล่าวกาย ฮานอย – กว๋างนิญ และฮานอย – หลั่งเซิน
ทั้งนี้ ข้อมูลรัฐบาลเวียดนาม ระบุว่า ในไตรมาสแรกของปี 2567 การค้าระหว่างเวียดนาม-จีนมีมูลค่า 43,600 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 22 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ จีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม และเป็นแหล่งนำเข้าสินค้าสำคัญสำหรับภาคการผลิตเวียดนาม ปัจจุบัน ทั้งสองประเทศเชื่อมโยงกันผ่านระบบทางหลวง และทางราง 2 สาย แต่เส้นทางดังกล่าวในเวียดนามค่อนข้างทรุดโทรมและจำเป็นต้องปรับปรุงอย่างมาก
(จาก https://en.vietnamplus.vn/)
ข้อคิดเห็น สคต
จีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม และเป็นแหล่งนำเข้าวัตถุดิบที่สำคัญสำหรับภาคอุตสาหกรรมการผลิตของเวียดนาม และเวียดนามเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับ 4 ของจีน ในปี 2566 มูลค่าการค้าทวิภาคีระหว่างเวียดนามและจีนมีมูลค่า 171,850 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเวียดนามส่งออก 61,210 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.6 เมื่อเทียบกับปี 2565 แม้ว่ามูลค่าการค่าจะมีการเติบโตแต่ เวียดนามเป็นฝ่ายขาดดุลการค้ากับจีน เนื่องจากเวียดนามต้องพึ่งพาการนำเข้าจากจีนด้วยสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 35 ของการนำเข้าทั้งหมดของเวียดนาม ทำให้จีนกลายเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 1 ของเวียดนาม นอกจากนี้ การค้าชายแดนระหว่างเวียดนาม-จีนเป็นอีกช่องทางการค้าที่สำคัญระหว่างกัน เนื่องจากเวียดนามมีพรมแดนทางบกติดต่อกับสองมณฑลสำคัญของจีน คือมณฑลกวางสีและยูนนาน ในปัจจุบันทั้งสองประเทศขนส่งสินค้าเชื่อมโยงกันผ่านทางบกและทางราง 2 สายคือ
ทางเรือบรรทุกสินค้าจากจีน (เมืองฉือเจียจวง) ไปยังกรุงฮานอย (เมือง เอียนเวียน) และรถไฟขนส่งข้ามชายแดนที่วิ่งจาก
เมืองบิ่ญเซือง (สถานี สองเทิน) ไปยังประเทศจีน แต่เส้นทางดังกล่าวมีสภาพที่ทรุดโทรมและจำเป็นต้องปรับปรุงอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ในบริบททางการเศรษฐกิจที่ทั้งเวียดนามและจีนต้องการส่งเสริมสินค้าระหว่างกันให้เติบโตมากยิ่งขึ้น การที่พัฒนาปรับปรุงทางขนส่ง จึงเป็นสี่งที่เวียดนามตระหนักถึงการปรับปรุงมาตรฐานเส้นทางขนส่งทางบก ควบคู่กับการเพิ่มเส้นทางขนส่งทางราง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างรถไฟความเร็วสูง เวียดนามกับจีน ซึ่งหากสำเร็จจะเป็นเส้นทางขนส่งที่สำคัญขยายเครือข่ายการขนส่งสินค้าผ่านชายแดนระหว่างเวียดนามและจีนและประเทศในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้รวมทั้งไทย ให้มีความสะดวกในการขนส่งสินค้าได้สะดวกมากยิ่งขึ้น