คาดตลาดเครื่องใช้ในครัวเรือนของฟิลิปปินส์ปี 2567 โตร้อยละ 7.5

 

                          บริษัท BMI Country Risk & Industry Research เผยว่าตลาดเครื่องใช้ในครัวเรือนของฟิลิปปินส์จะเติบโตร้อยละ 7.5 ในปีนี้ มีมูลค่าเป็น 2.70 แสนล้านเปโซ (4.8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ) และจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.1 ในอีก 5 ปีข้างหน้าภายในปี 2571 มีมูลค่าเป็น 3.54 แสนล้านเปโซ เนื่องจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภค รวมทั้งการปรับปรุงในตลาดที่อยู่อาศัยและจำนวนครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลาง – บน ช่วยกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายในกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ต่างๆ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าและของตกแต่งบ้าน ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ บริษัท Colliers Philippines ระบุว่าตำแหน่งงานว่างในตลาดที่อยู่อาศัยรอง (the secondary residential market) ของฟิลิปปินส์ลดลงเหลือร้อยละ 16.8 ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2566 จากร้อยละ 17.1 ในปีก่อนหน้า โดยมีการครอบครองคอนโดมิเนียมประมาณ 23,400 ยูนิตในตลาดขายล่วงหน้าในเขตเมโทรมะนิลาในปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นจากยอดขาย 21,600 ยูนิต ในปี 2565 นอกจากนี้ คาดว่าคอนโดมิเนียมมากกว่า 7,000 ยูนิตจะแล้วเสร็จในปีนี้ ทั้งนี้ ตามรายงานของ BMI ระบุเพิ่มเติมว่า ตลาดผู้บริโภคเครื่องใช้ในครัวเรือนของฟิลิปปินส์มีความเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา และมีผู้ค้าปลีกทั้งในประเทศและต่างประเทศผสมผสานกัน โดยผู้บริโภคสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายตั้งแต่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ไปจนถึงสินค้าขนาดใหญ่ในครัวเรือนผ่านหน้าร้านค้าและแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ และ ยังได้ตั้งข้อสังเกตว่าผู้เล่นท้องถิ่นหลายแห่งในฟิลิปปินส์ เช่น SM Home แข่งขันกับคู่แข่งที่มีฐานอยู่ในยุโรปและระดับโลก เช่น IKEA ในสวีเดน และ Japan Home Centre ในฮ่องกง โดยรูปแบบการค้าปลีกมีความแตกต่างกันไปในประเทศไม่ว่าซูเปอร์สโตร์นอกเมืองร้านค้าแสดงสินค้าใจกลางเมืองขนาดเล็กและการขายออนไลน์ที่แข็งแกร่งซึ่งในระยะกลางคาดว่าตลาดจะมีการเติบโตโดยเฉลี่ยอย่างต่อเนื่องในทุกกลุ่มสินค้าตั้งแต่สินค้าเพื่อการพักผ่อน (leisure items) ที่มีการเติบโตโดดเด่น

              ทั้งนี้ ตามข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติฟิลิปปินส์ระบุว่า รายได้เฉลี่ยของครัวเรือนชาวฟิลิปปินส์ในปี 2564 อยู่ที่ 307,190 เปโซ ลดลงร้อยละ 2 จากปี 2561 และการใช้จ่ายเฉลี่ยของครอบครัวชาวฟิลิปปินส์ก็ลดลงเหลือ 228,800 เปโซ หรือลดลงร้อยละ 4.1 เช่นกัน ขณะที่อัตราความยากจนเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 18.1 ในปี 2564 จากร้อยละ 16.7 ในปี 2561 เทียบเท่ากับมีชาวฟิลิปปินส์ที่ยากจน 19.992 ล้านคน แม้ว่าฟิลิปปินส์พยายามลดอัตราการเกิดความยากจนให้สัดส่วนของชาวฟิลิปปินส์ที่มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ความยากจนต่อหัว เหลือร้อยละ 9 ภายในปี 2571 ทั้งนี้ BMI คาดว่าเศรษฐกิจฟิลิปปินส์จะเติบโตร้อยละ 6.2 ในปีนี้ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่ผ่อนคลายลงและการว่างงานที่ลดลงจะช่วยสนับสนุนการใช้จ่ายภาคครัวเรือน โดยในปี 2566 การใช้จ่ายภาคครัวเรือนขยายตัวร้อยละ 5.6 ลดลงจากร้อยละ 8.3 ในปี 2565 และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะลดลงกลับสู่แนวโน้มในปีนี้ รวมทั้งอัตราการว่างงานขณะนี้อยู่ที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ โดยล่าสุดอัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลงเป็นอยู่ที่ร้อยละ 2.8 ในเดือนมกราคม 2567 จากร้อยละ 3.9 ในเดือนธันวาคม 2566และร้อยละ 8.7 ในเดือนมกราคม 2566 ซึ่งต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 นอกจากนี้ ยังเป็นเดือนที่สองติดต่อกันที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ภายในเป้าหมายร้อยละ 2-4 ของธนาคารกลางฟิลิปปินส์ ขณะที่อัตราการว่างงานลดลงสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ร้อยละ 4.3 ในปี 2566จากร้อยละ 5.4 ในปี 2565 เทียบเท่ากับมีชาวฟิลิปปินส์ที่ไม่มีงานทำ 2.19 ล้านคน ลดลงจาก 2.67 ล้านคนในปี 2565

ที่มา: หนังสือพิมพ์ Business World

บทวิเคราะห์และข้อคิดเห็น

-ตลาดเครื่องใช้ในครัวบ้านเป็นหนึ่งในภาคการค้าปลีกที่มีประสิทธิภาพที่สุดในประเทศฟิลิปปินส์ โดยในช่วงที่ผ่านมา สินค้าเครื่องใช้ในบ้านในฟิลิปปินส์มีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากระดับรายได้ ของประชาชนเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้เกิดความกล้าที่จะจับจ่ายใช้สอยมากยิ่งขึ้น รวมทั้งการขยายตัวของชุมชนเมืองทำให้ชาวฟิลิปปินส์มีวิถีการใช้ชีวิตที่มีลักษณะเป็นสังคมเมืองมากกว่าในอดีตที่เน้นความสะดวกสบายมากขึ้น และยังมีการคาดการณ์ว่าความต้องการผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ในครัวเรือนในฟิลิปปินส์จะยังคงขยายตัวในระยะต่อไป เนื่องจากความต้องการที่ยังไม่ได้รับการตอบสนองยังมีอยู่อีกมาก ดังนั้น ตลาดเครื่องใช้ในครัวเรือนในฟิลิปปินส์จึงเป็นตลาดที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการไทยในการขยายตลาดส่งออกมายังประเทศฟิลิปปินส์ และยิ่งประกอบกับปัจจัยหนุนด้านไลฟ์สไตล์สมัยใหม่ทำให้เกิดความต้องการเครื่องใช้ในบ้านที่เป็นนวัตกรรมใหม่ๆ ในฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีสำหรับแบรนด์จากต่างประเทศ รวมถึงแบรนด์ของไทย สำหรับการเจาะตลาดเครื่องใช้ในครัวเรือนในฟิลิปปินส์ ผู้ประกอบการไทยควรศึกษาวิเคราะห์ตลาดแนวโน้มและพฤติกรรมผู้บริโภคชาวฟิลิปปินส์อย่างละเอียดรอบด้าน เพื่อนำมาใช้พัฒนาผลิตภัณฑ์และกำหนดกลยุทธ์ ทางการตลาดได้อย่างเหมาะสมและสอดคล้องความต้องการของผู้บริโภค นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยควรเน้นการเป็นพันธมิตรกับผู้ค้าปลีกหรือผู้จัดจำหน่ายในท้องถิ่นซึ่งถือเป็นช่องทางหลักในการจัดจำหน่ายสินค้าดังกล่าวในฟิลิปปินส์หรืออาจพิจารณาใช้ช่องทางออนไลน์เป็นช่องทางเสริมในการทดลองวางจำหน่ายสินค้า เนื่องจากปัจจุบันผู้บริโภคชาวฟิลิปปินส์นิยมใช้ช่องทางออนไลน์ในการเลือกซื้อสินค้ามากขึ้น

—————————————————-

   สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมะนิลา /กุมภาพันธ์ 2567

en_USEnglish