USDA สหรัฐฯคาดการณ์การผลิตพืชผักเติบโตในอัตราที่ถดถอย

 

เนื้อหาสาระข่าว: กระทรวงการเกษตรสหรัฐฯ (U.S. Department of Agriculture: USDA)  โดยสำนักงานเศรษฐกร (Office of the Chief Economist)  ได้เผยแพร่รายงาน USDA Agricultural Projections to 2033 ซึ่งมีใจความตอนหนึ่งเปิดเผยถึงการคาดการณ์ทิศทางการเติบโตของการผลิตภาคการเกษตรภายในสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มจะถดถอยลงในภาพรวมทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตผักและพืชตระกูลถั่ว โดยรายงานระบุว่าอาจเติบโตเพียงร้อยละ 4 ในระยะเวลาประมาณ 11 – 12 ปี (ค.ศ. 2022 – 2033) ซึ่งถือว่าน้อยกว่าที่ควรจะเป็น และสวนทางกับปริมาณความต้องการที่จะเพิ่มสูงขึ้น เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับอัตราการเติบโตของจำนวนประชากรในช่วงระยะเวลาเดียวกันของสหรัฐฯ

อัตราการเติบโตของการผลิตผักและพืชตระกูลถั่วในข้างต้นนั้น นับว่าช้ากว่าการเติบโตในทศวรรษก่อนหน้า ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดจากการแข่งขันภาคการนำเข้าจากต่างประเทศที่สูงขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ ปัญหาเชิงเทคนิคเกี่ยวกับการปลูกผักในโรงเรือน (Greenhouse) และการทำฟาร์มแนวตั้ง (Vertical Farm) ขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยการปลูกพืชในลักษณะที่มีการป้องกัน (Protected Cultivation) ซึ่งกำลังเติบโตมาแทนที่การเกษตรแบบไร่ (Field-Grown) สำหรับการผลิตพืชผักสำคัญ ๆ หลายชนิดนั้น ยังคงตกหล่นไปจากวิธีการเก็บสำรวจข้อมูลของ USDA

ในรายงานได้คาดการณ์ถึงมูลค่าการส่งออกของสินค้าภาคการเกษตรสหรัฐฯ ในปีนี้ ซึ่งจะลดลงกว่าร้อยละ 14 หรืออยู่ที่ประมาณ 1.69 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งลดลงจากในปี 2022 ประมาณ 2.7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodities) ส่วนใหญ่จะมีอัตราการผลิตที่ลดลง อาทิ ข้าวโพด ถั่วเหลือง และฝ้าย ขณะที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าภาคการเกษตรในปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งสูงขึ้นจากปีที่ผ่านมาประมาณ 6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ที่ยังต้องพึ่งพาการนำเข้าเป็นหลัก ได้แก่ สินค้าจากเนื้อสัตว์ นม สัตว์ปีก น้ำตาล ผลไม้เขตร้อน (Tropical Products) ธัญพืช (Grain Products) และพืชสวน (Horticultural Products) โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มสินค้าผักและผลไม้สด

รายงานผลการศึกษาแนวโน้มอัตราการผลิตสินค้าผักกลุ่มต่าง ๆ ในภาพรวม ประกอบด้วย 1. กลุ่มสินค้าผักสด (Fresh-market Vegetable) โดยมีสินค้าที่เป็นหัวใจสำคัญได้แก่ ผักกาด เมล่อน หัวหอม แครอท และมันเทศ คาดการณ์ว่าอัตราการผลิตจะลดลงจากร้อยละ 32 มาอยู่ที่ร้อยละ 30 จากอัตราการผลิตผักทั้งหมดถึงปี 2033 ซึ่งถูกจับตาว่าสินค้าผักสดนำเข้าจะเพิ่มบทบาทขึ้นเพื่อรับมือกับความต้องการที่สูงขึ้น 2. กลุ่มสินค้าผักแปรรูป (Processing Vegetable) คาดว่าจะคงตัวอยู่ที่ร้อยละ 29 ของอัตราการผลิตทั้งหมดถึงปี 2033 3. สินค้ามันฝรั่งคาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 จากปี 2022 อยู่ที่ร้อยละ 35 ของอัตราการผลิตทั้งหมด 4. กลุ่มสินค้าพืชตระกูลถั่ว (Pulse Crops) ซึ่งคาดว่าอัตราการผลิตจะคงตัวอยู่ที่ร้อยละ 4 จนถึงปี 2033 และ 5. กลุ่มสินค้าเห็ด คาดว่าอัตราการผลิตจะลดลงในช่วงเวลาเดียวกัน

บทวิเคราะห์ และข้อเสนอแนะ: ประเด็นที่น่าสนใจซึ่งถอดความได้จากรายงานฉบับนี้ อยู่ที่การเน้นย้ำถึงบทบาทของภาคการนำเข้าที่เป็นหนึ่งในปัจจัยและสาเหตุหลักทำให้อัตราการผลิตพืชผักการเกษตรอยู่ในอัตราที่ลดลงในช่วงเวลาถึงปี 2033 ไม่ว่าจะด้วยผลกระทบทางตรงอย่างการที่สินค้าเกษตรจากต่างประเทศที่เข้ามาแข่งขันในตลาดสหรัฐฯ เพิ่มสูงขึ้นซึ่งมีต้นทุนที่ต่ำกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าที่มาจากประเทศที่อยู่ในความตกลงการค้าเสรีกับสหรัฐฯ นำไปสู่ผลกระทบทางอ้อมในการที่ทำให้เกษตรกร และบุคคลากรภาคการเกษตรมีแรงจูงใจน้อยลงในการผลิตพืชผักทั้งหลาย ทำให้สหรัฐฯ เผชิญกับสภาวะที่ได้คาดการณ์ไว้

สภาพการณ์ดังกล่าวประกอบกับท่าทีของสหรัฐฯ เองในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งดูเหมือนพยายามที่จะหยิบยกมาตรการทางการค้าทั้งที่เป็นมาตรการทางภาษี และมาตรการอื่น ๆ มาเพื่อปกป้องธุรกิจภายในประเทศจากการแข่งขันกับสินค้าจากต่างประเทศ ซึ่งเราได้เห็นตัวอย่างกันมาแล้วในรายของอุตสาหกรรมรถยนต์ และอุตสาหกรรมไมโครชิป-เซมิคอนดักเตอร์ ทำให้อุตสาหกรรมสินค้าเกษตรซึ่งอาจอยู่ภายใต้สภาวะและเงื่อนไขลักษณะคล้ายกันในอนาคตนั้น เป็นไปได้ว่าจะต้องเผชิญกับมาตรการกีดกันทางการค้าทั้งทางตรงและทางอ้อมที่เข้มข้นขึ้นเพื่อประโยชน์ในการปกป้องอุตสาหกรรมสินค้าเกษตรภายในสหรัฐฯ เอง ที่ซึ่งรัฐบาลสหรัฐฯ ในปัจจุบันก็พยายามอย่างสูงเพื่อบรรลุเป้าหมายนี้อย่างเปิดเผย กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยในฐานะที่เป็นหนึ่งในประเทศสำคัญที่ส่งออกสินค้าผลผลิตทางการเกษตรในรูปแบบต่าง ๆ ไปยังสหรัฐฯ ควรพึงต้องระวังมาตรการทางการค้าที่อาจเข้มข้นขึ้นในอนาคตตามไปด้วย

อย่างไรก็ตาม ในอีกมุมมองหนึ่งหากการทำนายที่ปรากฎในรายงานดังกล่าวแม่นยำ สินค้าพืชผักบางชนิด อาทิ เห็ด ซึ่งถูกระบุถึงอย่างชัดเจนว่าอัตราการผลิตภายในสหรัฐฯ จะลดลงจนถึงปี 2033 ในขณะที่ขนาดตลาดและความต้องการภายในสหรัฐฯ สำหรับสินค้าเห็ดมีแต่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยจากการสืบค้นข้อมูลจาก Grand View Research พบว่าขนาดตลาดสินค้าในสหรัฐฯ ระหว่างปี 2020 ถึง 2030 มีค่าเฉลี่ยเติบโตอยูที่ร้อยละ 9.4 โดยมีสัดส่วนการบริโภคสินค้า ได้แก่ เครื่องสำอาง เวชภัณฑ์ และอาหารตามลำดับ ซึ่งในปีที่ผ่านมาสหรัฐฯ นำเข้าสินค้าเห็ดมูลค่าทั้งหมด 141,560,395 เหรียญสหรัฐฯ โดยผู้ส่งออกสามลำดับแรก ได้แก่ ไต้หวัน จีน และแคนาดาตามลำดับ ทั้งนี้ สหรัฐฯ นำเข้าจากประเทศไทยมากเป็นลำดับที่ 7 มีมูลค่า 1,737,001 เหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.23 จากทั้งหมด จากข้อมูลในเบื้องต้นเกี่ยวกับการนำเข้าสินค้าเห็ดมายังสหรัฐฯ ประกอบกับขนาดตลาดและความต้องการที่คาดการณ์ว่าจะเติบโตต่อเนื่องนั้น ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจสินค้าเห็ดในไทยควรเล็งเห็นโอกาสทางการค้านี้ ศึกษาและพัฒนาสินค้าที่มีศักยภาพและมีความหลากหลายในรูปแบบนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เป็นที่ต้องการของตลาดสหรัฐฯ รวมทั้งเร่งขยายอัตราการผลิตให้มีต้นทุนที่ต่ำลงเพื่อสามารถแข่งขันได้ในตลาดสหรัฐฯ อย่างมีศักยภาพ

*********************************************************
ที่มา: Vegetable Growers News
Subject: “USDA sees slow growth in vegetable production

สคต. ไมอามี /วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567

en_USEnglish