โปแลนด์เดินหน้าโครงการสนามบิน CPK ฮับการบินแห่งใหม่กลางใจยุโรป

อีกไม่นาน โปแลนด์จะมีสนามบินหลักแห่งใหม่ขึ้นมาแทนสนามบิน วอร์ซอ โชแปง ซึ่งต้องรองรับจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นมากจนใกล้จะเต็ม Capacity สนามบินแห่งใหม่นี้ มีชื่อว่า Warsaw Solidarity Airport หรือ Central Communication Port (CPK) ตามกำหนด สนามบิน CPK จะพร้อมให้บริการแก่ผู้โดยสารในปี 2028 (2571)

 

ปัจจุบัน ผู้โดยสารที่จะเดินทางไปยังภูมิภาคยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก ต้องไปหยุดเปลี่ยนเครื่องที่ยุโรปตะวันตก โดยมีฮับหลักที่มีผู้นิยมใช้เพื่อแวะหยุดพักสำหรับเที่ยวบินระยะไกล (long-haul) อยู่ที่อัมสเตอร์ดัม ปารีส และแฟรงค์เฟิร์ต ซึ่งทางฝั่งประเทศยุโรปตะวันตก มีถึง 60 สนามบินที่ให้บริการเที่ยวบินระยะไกล ในขณะที่ทางยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก มีเพียง 16 สนามบินที่ให้บริการเที่ยวบินระยะไกล โดยในช่วงก่อนสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ผู้โดยสารนิยมแวะพักเพื่อเปลี่ยนเครื่องสำหรับเที่ยวบินระยะไกล ที่สนามบิน Sheremetyevo International Airport กรุงมอสโก

 

สนามบินแห่งใหม่ของโปแลนด์จะทำให้ผู้โดยสารที่มาใช้บริการสามารถเชื่อมต่อไปยังประเทศปลายทางได้ทั่วโลกอย่างสะดวกสบาย แม้ว่าสนามบิน วอร์ซอ โชแปง จะมีการขยายตัวของปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังเป็นหนึ่งในสนามบินที่เล็กที่สุดในยุโรป ในปี 2019 (2562) สนามบินโชแปงรองรับผู้โดยสารราว 19 ล้านคนต่อปี คาดการณ์ว่า จะเต็มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสาร จำนวน 20 ล้านคนต่อปี ในช่วงปี 2025 (2568) – 2027 (2570) สนามบินใหม่จึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับโปแลนด์เพื่อตอบสนองการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศและภูมิภาคอย่างยั่งยืน ในขณะเดียวกัน ก็จะเอื้อประโยชน์ให้แก่สายการบินแห่งชาติ LOT บรรลุเป้าหมายในการให้บริการแก่ผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 3 เท่าตัว พร้อมกับการพัฒนาเส้นทางบินระยะไกลไปสู่เอเชียและสหรัฐอเมริกา

 

โครงการพัฒนา Warsaw Solidarity Airport หรือ CPK นั้น ครอบคลุมทั้งส่วนการก่อสร้างสนามบิน และส่วนการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน การที่ตั้งอยู่ห่างจากกรุงวอร์ซอราว 40 กิโลเมตร จึงจำเป็นต้องพัฒนาเครือข่ายรถไฟเชื่อมสนามบิน CPK เพื่อไปยังกรุงวอร์ซอ และเมืองต่างๆ ทั่วโปแลนด์อย่างสะดวกรวดเร็ว ดังนั้น นอกจาก สนามบิน CPK
จะให้บริการรองรับปริมาณผู้โดยสารที่มากขึ้นแล้ว ยังจะเป็นแลนด์มาร์กที่มีความสำคัญโดดเด่นในภูมิภาคยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก ไม่แพ้สนามบินลอนดอน ฮีทโธรว์ (London Heathrow Airport) หรือสนามบินดูไบ (Dubai International Airport) และเมื่อก่อสร้างระยะแรกแล้วเสร็จ ก็จะเริ่มการขยายรันเวย์เพิ่มขึ้นในระยะถัดไป เมื่อเสร็จสมบูรณ์ คาดว่า สนามบิน CPK จะสามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึง 40 ล้านคนต่อปี ภายในปี 2035 (2578)

 

ข้อสังเกต/ข้อคิดเห็นของสคต.

1. การที่โปแลนด์เดินหน้าโครงการสร้างสนามบินแห่งใหม่นั้น สะท้อนให้เห็นว่า โปแลนด์ต้องการมีบทบาทอย่างสำคัญในภูมิภาคยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก โดยเฉพาะการขยายขีดความสามารถในการคมนาคมขนส่งทางอากาศ ซึ่งจะเอื้อประโยชน์ต่อภาคการค้า การลงทุน ตลอดจนภาคการท่องเที่ยวในภูมิภาค และเพิ่มศักยภาพการเป็นศูนย์กลางการขนส่งของโปแลนด์มากขึ้น

2. ปัจจุบันยังไม่มีสายการบินพาณิชย์ให้บริการเที่ยวบินตรงระหว่างไทยและโปแลนด์ แม้ว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต้องการเดินทางไปยังประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มขึ้นทุกปี ผู้ประกอบการท่องเที่ยวของโปแลนด์จึงใช้วิธีเช่าเหมาลำ พร้อมจำหน่ายแพ็คเกจทัวร์ให้กับนักท่องเที่ยว ในเส้นทางวอร์ซอ-กรุงเทพฯ และวอร์ซอ-ภูเก็ต โดยความถี่ของเที่ยวบินขึ้นอยู่กับปริมาณความต้องการของนักท่องเที่ยว เฉลี่ยประมาณ 1 – 2 เที่ยวบินต่อสัปดาห์
ในช่วงฤดูหนาวระหว่างเดือนพฤศจิกายน – กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นช่วงที่นักท่องเที่ยวนิยมเดินทาง ทั้งนี้ ในอนาคตอันใกล้หากประเทศไทยและโปแลนด์จะร่วมมือกันพิจารณาเปิดเที่ยวบินตรงระหว่างกัน ก็จะเอื้อประโยชน์ให้การค้าการลงทุน และการท่องเที่ยวของ 2 ฝ่ายขยายตัวเพิ่มขึ้นได้

 

ที่มา : CPK Press Services

en_USEnglish