(ที่มา : สำนักข่าว Korea JoogAng Daily และ Saturday Economy ฉบับวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566)
ธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) เปิดเผยว่า ในเดือนพฤศจิกายนดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจลดลงเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน ท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น
จากการสำรวจของธนาคารกลางเกาหลีพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค (CCSI) ของเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นสูงสุดที่ 103.2 ในเดือนกรกฎาคม 2566 หลังจากนั้นค่อยลดลงเรื่อย ๆ จนอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 100 ในเดือนกันยายนที่ผ่านมาและยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยดัชนี CCSI เดือนพฤศจิกายน 2566 อยู่ที่ 97.2 ซึ่งแตกต่างกับจุดต่ำสุดในเดือนเมษายน 2566 ที่ 95.1 เพียง 2.1 ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลงคือภาวะเงินตึงตัวที่ยืดเยื้อและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจชะลอตัว
ดัชนีดังกล่าวถูกจับตามองอย่างใกล้ชิด เนื่องจากการขยับตัวขึ้นอาจส่งผลให้ธุรกิจและการบริการต่าง ๆ ปรับราคาขึ้น และอาจทำให้แรงงานเรียกร้องให้ปรับค่าจ้างเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางเกาหลีคาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อในเดือนพฤศจิกายนยังคงที่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ในขณะที่แนวโน้มราคาผู้บริโภคอาจลดลง ทั้งนี้ผู้เชี่ยวชาญทางการเงินให้ความเห็นว่า ที่ผ่านมามาตรการส่งเสริมผู้บริโภคของรัฐบาลยังไม่มีประสิทธิภาพมากนัก และควรเร่งหารือเพื่อออกมาตรการพิเศษเพื่อเรียกความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศ
Office of Commercial Affairs, Royal Thai Embassy (Thai Trade Center) - Seoul พิจารณาแล้วเห็นว่า แม้การส่งออกของเกาหลีใต้จะเริ่มฟื้นตัว แต่หากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคซึ่งถูกใช้เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดเศรษฐกิจของประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง ถือว่าเป็นเรื่องยากที่เศรษฐกิจของเกาหลีจะมีแนวโน้มการเติบโตที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเกาหลีใต้เริ่มมีมาตรการส่งเสริมผู้บริโภคและลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน เช่น การลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบประเภทอาหาร อาทิ น้ำตาล กาแฟ เนย และนม ซึ่งคาดว่าจะช่วยให้ผู้บริโภคประหยัดกิจกรรมใช้จ่ายได้ในระดับหนึ่งและมีความเชื่อมั่นในการพยายามฟื้นฟูเศรษฐกิจของรัฐบาลเกาหลีมากขึ้น
สำหรับผู้ประกอบการไทยที่เคยส่งออกสินค้าหรือวางแผนที่จะส่งสินค้ามายังเกาหลีใต้ ควรเน้นลดต้นทุนในการผลิตสินค้าและควบคุมราคาสินค้าให้เป็นราคาที่จับต้องได้ เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคเกาหลีในขณะนี้ ที่จำเป็นต้องคำนึงถึงเสถียรภาพรายได้ของตนเองก่อนที่จะจับจ่ายใช้สอย