ห้างค้าปลีกกังวลกฎระเบียบการใช้บรรจุภัณฑ์อาหารพลาสติกฉบับใหม่

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโทรอนโต
ข่าวเด่นประจำสัปดาห์  ระหว่างวันที่ 25-29 กันยายน 2566

ห้างค้าปลีกกังวลกฎระเบียบการใช้บรรจุภัณฑ์อาหารพลาสติกฉบับใหม่

ห้างค้าปลีกในแคนาดามีข้อกังวลเกี่ยวกับร่างกฎระเบียบฉบับใหม่ที่บังคับใช้กับบรรจุภัณฑ์พลาสติกใส่อาหาร (Plastic Food Packaging) ว่าอาจสร้างปัญหาให้ทั้งผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่าย รวมถึงผู้บริโภค โดยบรรจุภัณฑ์อาหารที่ทำจากพลาสติกที่ได้รับผลกระทบ มีตั้งแต่ขวดพลาสติกใส่น้ำผลไม้ ถุงพลาสติกใส่ผลไม้สด (ที่ใช้ภายในห้างค้าปลีก) บรรจุภัณฑ์สินค้าโยเกิร์ต ถาดใส่เนื้อสัตว์ (ที่วางจำหน่ายในห้าง Prepacking) ถุงพลาสติกใส่ขนม (Snack Wrapper) โดยกฎระเบียบใหม่ภายใต้ชื่อ The Pollution Prevention Planning Notice (P2 Notice) มีวัตถุประสงค์เพื่อให้สินค้าอาหารที่วางจำหน่ายในแคนาดาจะต้องลดหรือเลิกใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติก โดยจะบังคับให้หันไปใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นลักษณะ Reuse-Refill system แทน โดยตั้งเป้าหมายสุดท้ายให้สินค้าในห้างค้าปลีกจะต้องเลิกใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติก ที่ร้อยละ 60 ภายในปี 2578 โดยคำนวณจากสัดส่วนจำนวนสินค้า (เป็นการเพิ่มสัดส่วนลักษณะขั้นบันได ที่เริ่มจากสัดส่วน ร้อยละ 20 ภายในปี 2569 ก่อนที่จะขยายไปเป็นร้อยละ 50 ภายในปี 2573) ทั้งนี้ สำหรับบรรจุภัณฑ์ผลไม้สด (Fresh Produce) มีเป้าหมายจะต้องการลดการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกในอัตราร้อยละ 75 ภายในปี 2569 และร้อยละ 95 ภายในปี 2571 ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับผู้ผลิตและห้างค้าปลีก

ห้างค้าปลีกกังวลกฎระเบียบการใช้บรรจุภัณฑ์อาหารพลาสติกฉบับใหม่

หน่วยงาน Retail Council of Canada (RCC) ที่เป็นตัวแทนของกลุ่มห้างค้าปลีกระดับประเทศ อาทิ Loblaw และ Metro ได้แสดงความกังวลในประเด็นดังกล่าวกับภาครัฐว่า กฎระเบียบดังกล่าวอาจไม่สามารถทำให้เกิดผลได้จริงในห่วงโซ่อุปทานระดับโลก (Global Supply Chain) เนื่องจากห้างค้าปลีกไม่สามารถบังคับผู้ผลิตทั่วโลกโดยเฉพาะสินค้าที่มาจากแหล่งการนำเข้าจากทั่วโลกหันมาปฏิบัติตามกฎระเบียบดังกล่าวได้ นอกจากนี้ ผลกระทบของกฎระเบียบใหม่จะเพิ่มต้นทุนให้กับผู้บริโภคและห้างค้าปลีก ที่ต้องไปหาวัสดุอย่างอื่นมาทดแทนพลาสติก ที่อาจสร้างผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย เพราะจากข้อมูลการสำรวจวิจัยโดยบริษัท McKinsey ในประเทศเบลเยี่ยมพบว่า ธุรกิจ Food Service ที่หันมาใช้ภาชนะอาหารประเภท Reuse Takeaway System ได้สร้างต้นทุนให้กับร้านอาหารสูงกว่าการใช้ Single use food container เนื่องจากมีต้นทุนแฝงที่มากับต้นทุนวัสดุภาชนะที่สูงขึ้น รวมถึงต้นทุนขั้นตอนล้างทำความสะอาด (ฆ่าเชื้อโรค) เพื่อนำมาใช้ซ้ำ ซึ่งรายงานดังกล่าวชี้ว่า          การสิ้นเปลืองทรัพยากรน้ำที่นำมาใช้ทำความสะอาด ที่สุดท้ายไม่เพียงต้นทุนที่สูงกว่าแต่ยังทำให้มีการปล่อยปริมาณก๊าซคาร์บอนสูงกว่าการใช้ Single use container มากกว่าร้อยละ 150 อีกด้วย

ปัจจุบัน หน่วยงาน RCC เรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐพิจารณาปรับเปลี่ยนกฎระเบียบหรือเลื่อนการใช้กฎระเบียบดังกล่าวออกไปก่อน เนื่องจากกฎระเบียบดังกล่าวมีความซับซ้อนและมีความยุ่งยากในการจะสามารถนำไปใช้ปฎิบัติได้จริง ทั้งนี้ กฎระเบียบฉบับดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนระหว่างการรับฟังข้อคิดเห็นจากทุกภาคส่วนก่อนที่จะดำเนินการขั้นต่อไปในการประชาพิจารณ์ Public Hearing จึงยังไม่ได้มีการระบุวันบังคับใช้

อย่างไรก็ตาม หน่วยงาน Food, Health & Consumer Products of Canada (FHCP) ได้ออกความเห็นเกี่ยวกับกฎระเบียบใหม่นี้ว่า ห้างค้าปลีกควรปรับตัวในการลดการใช้พลาสติกให้มากขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มสินค้า Private Label ที่ห้างเป็นเจ้าของสินค้าเอง ซึ่งห้างค้าปลีกสามารถควบคุมได้มากกว่าสินค้าทั่วไป โดยห้างควรหสแนวทางในการแสดงออกถึงความรับผิดชอบต่อตัวสินค้าและบรรจุภัณฑ์ที่สามารถลดผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมให้มากกว่านี้ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา ห้างค้าปลีกส่วนใหญ่ได้เริ่มตื่นตัวและปรับการลดการใช้วัสดุพลาสติกมากขึ้น อาทิ ห้าง Sobeys เป็นห้างใหญ่อันดับ 2 ของแคนาดาได้ปรับสินค้า Private Label โดยยกเลิกการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ (Unrecyclable Food Packaging) กับสินค้า 143 รายการในปี 2566 ที่อ้างว่าสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ถึง 106 ตัน เพื่อสนับสนุนแนวทางเศรษฐกิจ Circular Economy

ความเห็นของ สคต.         

แคนาดาเป็นหนึ่งในประเทศที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้บริโภค ซึ่งแคนาดาได้ประกาศยกเลิกการจำหน่ายและการใช้ผลิตภัณฑ์ Single Use Plastic ที่ครอบคลุม ถึง ถุงช็อปปิ้ง ช้อนส้อมพลาสติก อาหาร Take out ทุกประเภท หลอดดื่มน้ำ (Straw) ไม้คนกาแฟ (Stir Stick) ที่ผลิตจากพลาสติก โดยรัฐบาลแคนาดาอ้างว่ากฎดังกล่าว สามารถลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกช็อปปิ้ง ได้ถึง 15 พันล้านถุงต่อปี และลดปริมาณหลอดดื่มน้ำพลาสติกได้ถึง 57 ล้านชิ้นต่อปี ทำให้ลดปริมาณขยะอันมหาศาลได้ ซึ่งนโยบายดังกล่าวได้ผลตอบรับที่ดีจากผู้บริโภคและภาคเอกชนที่ได้มีการปรับตัวได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม ภาครัฐแคนาดาได้เริ่มพิจารณาขยายขอบเขตแนวทางของนโยบายการลดการใช้พลาสติกมากขึ้น ที่รวมไปถึงการลดการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกของสินค้า อาทิ เครื่องดื่ม สินค้าโยเกิร์ต รวมถึงถุงพลาสติกที่ใส่ผลไม้ (ที่ใช้ภายในห้างค้าปลีก) เนื้อสัตว์ ฯลฯ ที่ภาคเอกชนมองว่า การยกเลิกการใช้นั้นจะต้องมีการทำงานร่วมกันไม่ใช่แค่เพียงห้างค้าปลีก แต่ต้องเป็นการทำงานร่วมกันทั้งระบบห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ซึ่งกฎระเบียบThe Pollution Prevention Planning Notice (P2 Notice) อาจนำไปปฏิบัติได้จริงได้ยาก โดยเฉพาะกับสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ ที่ห้างค้าปลีกในแคนาดาอาจไม่สามารถบังคับผู้ผลิต มาปรับเปลี่ยนได้เพราะเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อนและต้นทุนของสินค้าที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการไทยที่สนใจตลาดแคนาดาควรคำนึงถึงแนวโน้มและกฎระเบียบบรรจุภัณฑ์ของแคนาดา เพื่อให้สามารถเพิ่มโอกาสให้แก่สินค้าไทยในแคนาดา  เนื่องจากรัฐบาลแคนาดาได้ขับเคลื่อนนโยบาย CBG Economy มากขึ้นในการเริ่มออกกฎระเบียบที่เกี่ยวกับการลดผลกระทบของสินค้า บรรจุภัณฑ์ การทำธุรกิจที่มีผลต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

โปรดติดตามความเคลื่อนไหวในการค้าระหว่างประเทศผ่าน ช่องทางต่างๆ ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ www.ditp.go.th และ www.thaitrade.com หรือโทรปรึกษาเรื่องการค้าระหว่างประเทศที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โทร. ๑๑๖๙ (หากโทรจากต่างประเทศ โปรดติดต่อที่ โทร. +๖๖ ๒๗๙๒ ๖๙๐๐)

ห้างค้าปลีกกังวลกฎระเบียบการใช้บรรจุภัณฑ์อาหารพลาสติกฉบับใหม่

ข้อมูลนโยบาย [Consultation document] Pollution prevention planning notice for primary food plastic packaging (P2 Notice)

ห้างค้าปลีกกังวลกฎระเบียบการใช้บรรจุภัณฑ์อาหารพลาสติกฉบับใหม่

รายงานจาก McKinsey – The potential impact of reusable packaging

en_USEnglish