รายงานจาก Hamburg Commercial Bank จัดเตรียมโดย S&P Global ได้ระบุ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของสเปน (PMI) ในเดือนสิงหาคม 2566 หดตัวลงเหลือ 46.5 จาก 47.8 ในเดือนกรกฎาคม ซึ่งถือเป็นการลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 และลดลงต่ำสุดจนถึงขณะนี้ สาเหตุเนื่องจากการลดลงของการผลิตและคำสั่งซื้อใหม่ๆ จากความต้องการภายในประเทศและต่างประเทศที่อ่อนแอ โดยถือเป็นอีกครั้งหนึ่งที่คำสั่งซื้อใหม่หดตัวลงในอัตรารุนแรงมากนับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะที่ราคาปัจจัยการผลิตในภาคอุตสาหกรรมได้ลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 6
นาย Cyrus de la Rubia หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากธนาคารฯ กล่าวว่า ตนค่อนข้างแน่ใจว่าภาคการผลิตของสเปนน่าจะเข้าสู่ภาวะถดถอยตั้งแต่ช่วงไตรมาส 2 และคาดว่า การหดตัวในภาคอุตสาหกรรมจะแย่ลงในระยะสั้นก่อนที่จะปรับตัวดีขึ้นอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจในเดือนสิงหาคมปรับตัวดีขึ้นและถือเป็นระดับสูงสุดในรอบ 6 เดือนด้วยความคาดหวังที่อุปสงค์จะขยายตัวดีขึ้นในปีหน้า ขณะที่การจ้างงานเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน
ทั้งนี้ ในเดือนสิงหาคม อัตราเงินเฟ้อของสเปนอยู่ที่ 2.6% เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 0.3% เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของราคาเชื้อเพลิงซึ่งเป็นผลจากการลดกำลังการผลิตน้ำมันของซาอุดิอาระเบียและการขมขู่นัดหยุดงานของโรงผลิตก๊าซธรรมชาติหลายแห่งในออสเตรเลีย และมีการคาดการณ์ว่า ราคาเชื้อเพลิงจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงสิ้นปีจากการลดกำลังการผลิตน้ำมันของกลุ่ม OPEC และความต้องการน้ำมันที่เพิ่มขึ้นในจีน ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core inflation) ของสเปนในเดือนสิงหาคมอยู่ที่ 6.1% จากต้นทุนด้านพลังงานและอัตราดอกเบี้ยที่สูง
ความเห็นของ สคต.
การลดลงของการผลิตและคำสั่งซื้อใหม่ๆ ในภาคอุตสาหกรรมของสเปนมีนัยสำคัญต่อการนำเข้าสินค้าของสเปนจากไทย โดยกลุ่มสินค้าขั้นต้น/ขั้นกลางบางประเภทที่นำมาใช้ในการผลิตของภาคอุตสาหกรรมของสเปนก็มีการหดตัวของการนำเข้า เช่น ยางธรรมชาติที่ไทยเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 1 ของสเปน ซึ่งส่วนใหญ่สเปนจะนำมาใช้ผลิตยางรถยนต์ ชิ้นส่วนและส่วนประกอบของยางสำหรับยานยนต์และถุงมือยางภายในประเทศนั้น ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ ไทยส่งออกยางธรรมชาติไปสเปนเป็นปริมาณ 28,958.9 ล้านตัน ขยายตัวลดลง -27.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ซึ่งสเปนนำเข้ามูลค่า 29.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวลดลง -6.3%
อย่างไรก็ตาม มุมมองภาพรวมเศรษฐกิจของสเปนนั้น ยังเป็นไปในทิศทางบวก ขณะที่กำลังซื้อของครัวเรือนสเปนมีการปรับตัวดีขึ้นแม้จะยังมีแรงกดดันจากราคาพลังงานและเงินเฟ้อ
————————-
ที่มา : Cinco Dias
ข่าวเด่นประจำสัปดาห์จาก สคต.มาดริด ระหว่างวันที่ 4-10 กันยายน 2566