ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับมาตรการภาษีศุลกากรของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ หลายประเทศในเอเชียที่มีดุลการค้าเกินดุลกับสหรัฐฯ กำลังเร่งเจรจากับประธานาธิบดีทรัมป์ เพื่อหาทางออกที่เป็นประโยชน์และเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าที่สูงขึ้น เมื่อวันศุกร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ 2568 ประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศว่าเขาจะเปิดเผยมาตรการภาษีตอบโต้ ซึ่งเป็นการเรียกเก็บภาษีในอัตราเดียวกับที่ประเทศอื่นๆ ที่เรียกเก็บจากสินค้าสหรัฐฯ โดยคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในวันอังคารที่ 11 กุมภาพันธ์ 2568 อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีทรัมป์ไม่ได้ระบุว่าประเทศใดจะได้รับผลกระทบโดยตรง แต่กล่าวว่าเป็นมาตรการในวงกว้างเพื่อลดการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ แม้ว่ารายละเอียดของมาตรการดังกล่าวยังไม่ชัดเจน ทีมวิเคราะห์ของธนาคาร Barclays คาดการณ์ว่ามีแนวโน้มที่อัตราภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ จะเพิ่มขึ้นสำหรับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในเอเชีย ยกเว้น สิงคโปร์และฮ่องกง ซึ่งสหรัฐฯ มีดุลการค้าเกินดุลด้วย
ตามข้อมูลจากองค์การการค้าโลก (WTO) ในปี 2566 ประเทศส่วนใหญ่ในเอเชียกำหนดอัตราภาษีนำเข้าสูงกว่าที่สหรัฐฯกำหนด โดยอินเดียมีอัตราภาษีเฉลี่ยที่ร้อยละ 17 สำหรับประเทศที่มีสถานะ Most favored nation หรือ MFN โดยเมื่อเทียบกับสหรัฐฯมีอัตราภาษีเฉลี่ยเพียงร้อยละ 3.3 ปัจจุบันสหรัฐฯ ให้สถานะ MFN กับประเทศเศรษฐกิจหลักส่วนใหญ่ ยกเว้น รัสเซีย
ความแตกต่างของอัตราภาษีนำเข้าระหว่างสหรัฐฯ และคู่ค้าในเอเชีย
จากข้อมูลของสำนักงานสำรวจสำมะโนประชากรของสหรัฐฯ ในปี 2567 จีนมีดุลการค้าเกินดุลกับสหรัฐฯ สูงสุดที่ 2.95 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ รองลงมาคือเวียดนาม 1.23 แสนล้านดอลลาร์ ไต้หวัน 7.4 หมื่นล้านดอลลาร์ ญี่ปุ่น 6.85 หมื่นล้านดอลลาร์ และเกาหลีใต้ 6.6 หมื่นล้านดอลลาร์
Stefan Angrick นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากบริษัทวิจัย Moody’s Analytics กล่าวกับสำนักข่าว CNBC ว่า แม้ว่าประเทศเหล่านี้จะรอดพ้นจากมาตรการภาษีในสมัยแรกของประธานาธิบดีทรัมป์ได้ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง พร้อมเน้นว่า ท่าทีของสหรัฐฯ อาจเปลี่ยนแปลงได้ และภาษีอาจถูกนำมาใช้ได้ในภายหลัง ประเทศเหล่านี้ (ยกเว้นเวียดนาม) ได้รับการยกเว้นจากมาตรการภาษีรอบแรกของประธานาธิบดีทรัมป์ เนื่องจากมีความร่วมมือด้านความมั่นคงที่แน่นแฟ้นกับสหรัฐฯ และมีการลงทุนขนาดใหญ่ในประเทศ
เวียดนามเตรียมรับผลกระทบจากมาตรการภาษีของประธานาธิบดีทรัมป์
เวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศที่เสี่ยงต่อมาตรการกีดกันทางการค้าของประธานาธิบดีทรัมป์มากที่สุด เนื่องจากเวียดนามมียอดเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ที่สูงและการลงทุนจากจีนในประเทศที่เพิ่มขึ้น เวียดนามมียอดเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 18 ต่อปีเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งอยู่ในระดับสูงสุด ขณะที่อัตราภาษีเฉลี่ยที่เรียกเก็บจากประเทศที่มีสถานะ MFN อยู่ที่ร้อยละ 9.4 ตามข้อมูลขององค์การการค้าโลก (WTO)
เครื่องดื่มและยาสูบที่นำเข้ามาในเวียดนามจากสหรัฐจะโดนเรียกเก็บภาษีนำเข้าสูงถึงร้อยละ 45.5 โดยเฉลี่ย ในขณะที่สินค้าประเภทอื่นๆ เช่น น้ำตาลและขนมหวาน ผลไม้และผัก เสื้อผ้าและอุปกรณ์การขนส่งอาจจะโดนเรียกเก็บภาษีนำเข้าอยู่ที่ร้อยละ 14 ถึงร้อยละ 34
ในปี 2562 ประธานาธิบดีทรัมป์ เคยกล่าวว่าเวียดนามเกือบจะเป็นประเทศที่ละเมิดกฏการค้าอย่างเลวร้ายที่สุด แต่หลังจากที่ได้รับการเลือกตั้งอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายน ประธานาธิบดีทรัมป์ยังไม่ได้แสดงความคิดเห็นใดๆ เกี่ยวกับเวียดนาม
รัฐบาลเวียดนามได้พยายามเจรจากับสหรัฐฯ เพื่อหาทางออกทางการค้า โดยในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เวียดนามให้คำมั่นว่าจะซื้อเครื่องบิน ก๊าซธรรมชาติเหลว และสินค้าอื่น ๆ จากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น และเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นายกรัฐมนตรี Pham Minh Chinh ของเวียดนามได้สั่งให้คณะรัฐมนตรีเตรียมรับมือกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากสงครามการค้าโลกในปีนี้
เวียดนามได้รับประโยชน์อย่างมากจากมาตรการภาษีของประธานาธิบดีทรัมป์ที่มุ่งเป้าไปยังจีนในสมัยแรก ส่งผลให้โรงงานผู้ผลิตหลายแห่งย้ายฐานการผลิตออกจากจีน มาลงทุนโดยตรงในเวียดนามและกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
Michael Wan นักวิเคราะห์อาวุโสจากธนาคาร MUFG กล่าวว่า หากสหรัฐฯ บังคับใช้ภาษีศุลกากรตอบโต้เต็มรูปแบบ อัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากเวียดนามอาจเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 8 จากระดับปัจจุบันที่ประมาณร้อยละ 4 อย่างไรก็ตาม เขาคาดว่าสหรัฐฯ จะใช้มาตรการที่เข้มงวดน้อยกว่านี้ โดยอาจเก็บภาษีเฉพาะบางภาคส่วนแทน
อินเดียเตรียมผ่อนปรนมาตรการภาษี
อินเดียอาจเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากมาตรการภาษีตอบโต้ เนื่องจากอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯของอินเดีย สูงกว่าที่สหรัฐฯ เรียกเก็บจากอินเดียอย่างมาก Michael Wan นักวิเคราะห์อาวุโสจากธนาคาร MUFG กล่าวว่าสหรัฐฯ อาจขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากอินเดีย จากในปัจจุบันภาษีนำเข้าอยู่ที่ประมาณร้อยละ 3 อาจเปลี่ยนเป็นเป็นร้อยละ 15 ในการประชุมงบประมาณประจำปีของรัฐบาลอินเดียเมื่อช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ อินเดียได้ปรับลดภาษีนำเข้าสินค้าหลายประเภท เช่น รถจักรยานยนต์ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ แร่ธาตุที่สำคัญ และแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน
Tuhin Kanta Pandey ปลัดกระทรวงการคลังของอินเดียกล่าวว่า อินเดียต้องการส่งสัญญาณว่าอินเดียไม่ใช่ประเทศที่ตั้งกำแพงภาษีสูง นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี Narendra Modi ยังเตรียมเจรจาลดภาษีนำเข้าสินค้าเพิ่มเติมในหลายภาคส่วน รวมถึงหารือเรื่องการซื้อพลังงานและอุปกรณ์ทางทหารเพิ่มจากสหรัฐฯ ในการประชุมกับประธานาธิบดีทรัมป์ในสัปดาห์นี้
ญี่ปุ่นได้รับสถานะประเทศคู่ค้าพิเศษ
หลังจากที่นายกรัฐมนตรีชิเกรุ อิชิบะ เพิ่งเสร็จสิ้นการเยือนวอชิงตันอย่างเร่งด่วนเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา นักวิเคราะห์ต่างลงความเห็นว่า ประธานาธิบดีทรัมป์มีความสัมพันธ์ที่ดีกับญี่ปุ่น และอาจจะไม่มีการเรียกเก็บภาษีนำเข้าที่สูงขึ้นในขณะนี้ Kyohei Morita หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากธนาคารแห่งการลงทุน Nomura กล่าวว่า มีโอกาสน้อยมากที่สหรัฐฯ จะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าญี่ปุ่นในอัตราที่สูง โดยจากข้อมูลของ WTO ญี่ปุ่นมีอัตราภาษีนำเข้าเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 3.7 สำหรับประเทศที่มีสถานะ MFN ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ
ในการประชุมสุดยอดเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ญี่ปุ่นตกลงที่จะนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น และแสดงความสนใจในโครงการขนส่งก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ผ่านทางท่อส่งจากทางตอนเหนือของรัฐอลาสกา นอกจากนี้ ผู้นำทั้งสองยังได้บรรลุข้อตกลงประนีประนอม โดยแทนที่ Nippon Steel ของญี่ปุ่นจะเข้าซื้อกิจการ U.S. Steel บริษัทญี่ปุ่นจะเปลี่ยนเป็นการเลือกลงทุนร่วมในบริษัทสัญชาติอเมริกันแทน ซึ่งญี่ปุ่นจะให้การสนับสนุนด้านเทคโนโลยีเพื่อช่วยให้ U.S. Steel สามารถผลิตผลิตภัณฑ์คุณภาพสูงขึ้นภายในสหรัฐฯ อีกด้วย ญี่ปุ่นซึ่งเป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ ต่อเนื่องกันเป็นเวลา 5 ปี ยังให้คำมั่นว่าจะขยายการลงทุนเป็นมูลค่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ จาก 783.3 พันล้านดอลลาร์ในปี 2566
จีนส่งสัญญาณพร้อมเจรจา
จีนถูกเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 10 เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ ในขณะที่แคนาดาและเม็กซิโกได้รับการผ่อนผันการเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ มาตรการตอบโต้ทางภาษีของจีน ซึ่งเป็นการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าบางรายการจากสหรัฐฯ มีผลบังคับใช้ในวันจันทร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา หลังจากที่ความพยายามในการเจรจาทางโทรศัพท์ระหว่างประธานาธิบดี สี จิ้น ผิง และประธานาธิบดีทรัมป์ ล้มเหลว
มาตรการตอบโต้ของจีน กล่าวคือ การเก็บภาษีร้อยละ 15 สำหรับถ่านหินและก๊าซธรรมชาติเหลวจากสหรัฐฯ และการเรียกเก็บภาษีร้อยละ 10 สำหรับน้ำมันดิบ อุปกรณ์การเกษตร รถยนต์ และรถกระบะ ถูกมองว่าเป็นมาตรการค่อนข้างระมัดระวังและไม่รุนแรง จากข้อมูลของธนาคารแห่งการลงทุน Nomura มาตรการภาษีดังกล่าวคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ มูลค่า 13.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2567 ซึ่งมูลค่าดังกล่าวมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 8.5 ของมูลค่าสินค้าทั้งหมดที่จีนนำเข้าจากสหรัฐฯ และเพียงร้อยละ 0.5 ของสินค้าที่จีนนำเข้าทั้งหมด
Tommy Xie หัวหน้าฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจมหภาคเอเชียของธนาคาร OCBC ระบุว่า ตัวเลขดังกล่าวต่ำกว่ามูลค่าสินค้าสหรัฐฯ 5 หมื่นล้านดอลลาร์ที่ประธานาธิบดีทรัมป์ตั้งเป้าไว้ในช่วงดำรงตำแหน่งวาระแรกอย่างมาก มาตรการภาษีที่มีการคิดอย่างรอบคอบนี้ แสดงให้เห็นว่าจีนเลือกใช้มาตรการตอบโต้ที่หลากหลายขึ้น เช่น การควบคุมการส่งออกและการตรวจสอบด้านกฎระเบียบกับบริษัทสหรัฐฯ พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้มีการเจรจาเพิ่มเติม
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ก
ข้อมูลอ้างอิง: CNBC