เนื้อหาสาระข่าว: ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯในปีนี้ เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา เชื่อว่าคงทำให้หลายคนมีความรู้สึกที่แตกต่างกันไป และได้มีการวิเคราะห์ทิศทางความเปลี่ยนแปลงและผลกระทบต่อประเด็นความท้าทายทั้งหลายที่กำลังเกิดขึ้นทั่วทุกมุมโลก สำหรับทิศทางความเปลี่ยนแปลงและผลกระทบที่ในบางประเทศหรือกลุ่มประเทศจะต้องตั้งรับกับสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นนั้น ประเทศในภูมิภาคแคริบเบียนก็เป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่จำเป็นต้องติดตามความเปลี่ยนเชิงนโยบายจากสหรัฐฯ เนื่องจากความใกล้ชิดกันของที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจสังคม ตลอดจนความสัมพันธ์ระดับประชาชนระหว่างสหรัฐฯและประเทศในแคริบเบียน ทำให้เมื่อความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่กำลังจะมาเยือนอีกครั้ง ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องคาดการณ์องค์ประกอบต่าง ๆ ที่ประเทศในแคริบเบียนอาจจำเป็นต้องปรับตัวตามอีกหนหนึ่ง
ในรายงานข่าวประจำสัปดาห์นี้จะอภิปรายข้อสังเกตโดย Sir Ronald Sanders เอกอัครราชทูตประเทศแอนติกาและบาร์บูดา (Antigua and Barbuda) ประจำสหรัฐอเมริกา และองค์การรัฐอเมริกัน (Organization of American States: OAS) ที่ได้ให้ข้อสังเกตถึงประเด็นความท้าทายประเด็นต่าง ๆ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อทิศทางการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ – แคริบเบียน ภายใต้การนำของประธานาธิบดีทรัมป์ ในสมัยที่สอง ประกอบด้วย
ประเด็นด้านการค้าและการให้ความช่วยเหลือ (Trade and Aid)
เนื่องจากเป็นที่ชัดเจนว่าประธานาธิบดีทรัมป์นั้นมีนโยบายด้านการค้าซึ่งมุ่งเน้นไปที่การใช้มาตรการตอบโต้ทางการค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการกำแพงภาษีนำเข้า (Tariff) กับประเทศที่สหรัฐฯขาดดุลทางการค้าด้วยอย่างมีนัยยะสำคัญ อาทิ จีน และสหภาพยุโรป เป็นต้น เพื่อพยายามสร้างสมดุลให้กับการค้าของสหรัฐฯ ในระหว่างการหาเสียงของประธานาธิบดีทรัมป์ก็เคยได้เปรยถึงการตั้งกำแพงภาษีนำเข้าครอบคลุมสินค้าทั้งหมดอย่างน้อย 10% ทั้งยังเพ่งเล็งการตั้งกำแพงภาษีนำเข้าในอัตราที่สูงกว่านี้กับสินค้าบางประเภท และ/หรือการนำเข้าจากบางประเทศโดยเฉพาะเจาะจงอีกด้วย รวมถึงการออกพรบ.การค้าต่างตอบแทนของทรัมป์ (Trump Reciprocal Trade Act) ซึ่งจะให้อำนาจกับประธานาธิบดีทรัมป์ในการกำหนดกำแพงภาษีนำเข้าในระดับที่เท่ากัน ของสินค้าประเภทเดียวกัน กับประเทศที่ตั้งกำแพงภาษีนำเข้ากับสินค้าจากสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตามประเทศในแคริบเบียน และประเทศสมาชิกกลุ่ม CARICOM อาจจะไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากทิศทางนโยบายการค้าของประธานาธิบดีทรัมป์สมัยหน้า เนื่องจากอย่างที่ได้กล่าวไปตอนต้นว่าประธานาธิบดีทรัมป์จะเพ่งเล็งไปที่ประเทศที่สหรัฐฯขาดดุลทางการค้าด้วยเป็นหลัก แต่ในปัจจุบันดุลการค้าของสหรัฐฯถือว่าอยู่ในสภาวะได้ดุลประเทศสมาชิกกลุ่ม CARICOM ในภาพรวม โดยในปี 2023 ที่ผ่านมา สหรัฐฯได้ดุลการค้าประเทศสมาชิกกลุ่ม CARICOM รวมอยู่ที่ 7.4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (แม้ว่าในรายละเอียดจะมีบางประเทศ เช่น ตรินิแดดและโตเบโกที่สหรัฐฯขาดดุลการค้าประมาณ 889 ร้อยล้านเหรียญสหรัฐฯ จากความจำเป็นในการนำเข้ากลุ่มสินค้าพลังงานอย่างน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ)
ในมุมกลับกันนั้น จากการที่ในแคริบเบียนมีบางประเทศซึ่งเป็นประเทศกำลังพัฒนา และมีบางประเทศที่อยู่ในสภาวะต้องได้การความช่วยเหลือทางสังคมและมนุษยธรรม ทำให้สหรัฐฯดำเนินโครงการให้ความช่วยเหลือกับบางประเทศในแคริบเบียน โดยในปี 2023 ที่ผ่านมาสหรัฐฯได้มอบเงินช่วยเหลือแก่ประเทศสมาชิก CARICOM รวมแล้ว 456.2 ล้านเหรียญฯสหรัฐฯ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับดุลการค้าที่สหรัฐฯได้จากประเทศเหล่านี้ ก็ยังมีส่วนต่างประมาณ 7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ทำให้แนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบทางตรงจากนโยบายทางด้านการค้าจากรัฐบาลของประธานาธิบดีทรัมป์อาจจะยังไม่ใช่เรื่องที่น่าห่วงกังวลที่สุดสำหรับภูมิภาคแคริบเบียน
ประเด็นด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)
นโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์สมัยหน้าที่เกี่ยวข้องกับประเด็นด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาทิ การยกเลิกการเข้าร่วมข้อตกลงด้านสภาพภูมิอากาศที่สำคัญอย่าง Paris Agreement การสนับสนุนการขยายอุตสาหกรรมการผลิตพลังงานน้ำมันและก๊าซ และการยกเลิกมาตรการที่ห้ามการขุดเจาะเชื้อเพลิงฟอสซิล (Fossil Fuel) ขึ้นมาใช้ ซึ่งภาพรวมมีทิศทางตรงกันข้ามกับวาระการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของสากลนั้น ดูจะเป็นประเด็นที่ประเทศในแคริบเบียนจะต้องเตรียมพร้อมรับมืออย่างเข้มข้นมากที่สุด เนื่องจากภูมิภาคแคริบเบียนสุ่มเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบอย่างสาหัสจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสภาวะที่ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ประเด็นด้านสันติภาพโลกและความมั่นคง (Global Peace and Stability)
จุดยืนและท่าทีที่มีต่อประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งสำคัญที่กำลังเกิดขึ้นอย่างกรณีระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ ซึ่งสหรัฐฯและประเทศส่วนใหญ่ในแคริบเบียนเห็นต่างกันพอสมควรในจุดยืนการสนับสนุนข้อสรุประหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ กล่าวคือ ประเทศส่วนใหญ่ในแคริบเบียนสนับสนุนผลักดันการก้าวไปสู่การเป็นระบบ 2 รัฐ (two-state solution) ในขณะที่ประธานาธิบดีทรัมป์ก็ค่อนข้างชัดเจนในการสนับสนุนจุดยืนของอิสราเอล ความแตกต่างในประเด็นความขัดแย้งนี้อาจต้องอาศัยบทบาททางการทูตระหว่างฝ่ายต่าง ๆ เพื่อประณีประนอมท่าทีและจุดยืนเพื่อประโยชน์ของความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ – แคริบเบียน
บทวิเคราะห์และข้อคิดเห็น: โดยสรุป การกลับมาของประธานาธิบดีทรัมป์สมัยหน้านี้ อาจส่งผลกระทบต่อสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในแคริบเบียน ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยสามารถพิจารณาแยกรายประเด็นได้ ดังนี้
ประเด็นด้านการค้า: แม้ข้อเท็จจริงจากข้อสังเกตข้างต้นจะบ่งชี้ว่าประเทศในแคริบเบียนอาจไม่ได้รับผลกระทบจากนโยบายกีดกันทางการค้าแบบเฉพาะเจาะจงเหมือนบางประเทศที่ประธานาธิบดีทรัมป์เพ่งเล็งอย่างชัดเจน เนื่องจากสหรัฐฯอยู่ในสภาวะได้ดุลทางการค้ากับแคริบเบียนในภาพรวม อย่างไรก็ตาม ในข้อสังเกตเดียวกันก็ชี้ว่าประธานาธิบดีทรัมป์มีแนวคิดที่จะตั้งกำแพงภาษีนำเข้าแบบครอบคลุมทั้งหมด 10% ซึ่งอาจมีส่วนทำให้ในอนาคตแคริบเบียนอาจตกอยู่ในสภาวะขาดดุลทางการค้าที่รุนแรงมากขึ้น และสภาวะขาดดุลทางการค้าที่ต่อเนื่องย่อมไม่เป็นผลดีกับประเทศในแคริบเบียนอย่างแน่นอน เนื่องจากย่อมส่งผลให้สภาพเศรษฐกิจในบางประเทศในแคริบเบียนแย่ลง และอาจมีผลต่อกำลังซื้อของประเทศในระยะยาว
ที่สำคัญมากกว่านั้นในเรื่องที่เกี่ยวกับนโยบายการค้าของประธานาธิบดีทรัมป์ซึ่งเตรียมจะทำสงครามการค้า (Trade War) กับจีนอีกครั้งหนึ่ง ทำให้มีความเป็นไปได้สูงว่าในสมัยหน้าของประธานาธิบดีทรัมป์นโยบายที่สกัดกั้นจีนในทางธุรกิจและการค้าจะมีมากมายหลายรูปแบบ และอาจลุกลามไปถึงประเทศที่มีความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนที่ดีกับจีนได้ด้วยเช่นกัน หลายประเทศในแคริบเบียนมีการขยายตัวเข้ามาของธุรกิจจีนอย่างก้าวกระโดด ซึ่งจากการสืบค้นข้อมูลพบว่านับจนถึงปี 2022 จีนได้เข้ามาลงทุนในแคริบเบียนรวมมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งยังมีประเทศในแคริบเบียนเข้าร่วมโครงการ Belt and Road Initiative ของจีนมากถึง 10 ประเทศ ลักษณะเช่นนี้เองที่อาจทำให้รัฐบาลของประธานาธิบดีทรัมป์พิจารณาหาเหตุผลใช้มาตราการกีดกันทางการค้ากับบางประเทศในแคริบเบียนที่มีการเติบโตทางการค้าและการลงทุนกับจีนอย่างมีนัยยะสำคัญ
ประเด็นด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ: ในปัจจุบันยังมีบางประเทศในแคริบเบียนที่ได้รับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมในรูปแบบของภัยธรรมชาติที่รุนแรงมากขึ้น สร้างความเสียหายวงกว้างมากขึ้น อาทิ คิวบา จาเมกา หรือแม้แต่เปอร์โตริโกซึ่งเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของสหรัฐฯเองล้วนได้รับผลกระทบทางตรงอย่างรุนแรงจากพายุเฮอร์ริเคนขนาดใหญ่ในปีนี้ ประเทศหมู่เกาะขนาดเล็กต่าง ๆ ในแคริบเบียนซึ่งสุ่มเสี่ยงอย่างมากต่อการจมลงทะเลเนื่องจากภาวะการเพิ่มสูงขึ้นของน้ำทะเล
การที่ประเทศมหาอำนาจขนาดใหญ่ระดับสหรัฐฯจะเพิกเฉยต่อการมีส่วนบรรเทาปัญหาที่สิ่งแวดล้อมเหล่านี้ ย่อมส่งผลให้ปัญหาในภาพรวมมีแต่จะแย่ลง ซึ่งในท้ายที่สุดอาจทำให้ประเทศในแคริบเบียนที่ได้รับผลกระทบหรือสุ่มเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบ จำเป็นต้องลงทุนภายในประเทศไปกับการรับมือป้องกันผลกระทบทางภัยธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่คาดเดาไม่ได้ในปริมาณมหาศาล ซึ่งลักษณะเช่นนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภายในประเทศของแต่ละประเทศเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
อีกหนึ่งประเด็นที่ถือเป็นนโยบายที่สำคัญอย่างยิ่งของประธานาธิบดีทรัมป์ ก็คือการผลักผู้อพยพเข้าเมืองมายังสหรัฐฯอย่างผิดกฎหมายออกจากสหรัฐฯ ซึ่งจากการสืบค้นข้อมูลพบว่าในปริมาณผู้อพยพเข้าเมืองมายังสหรัฐฯอย่างผิดกฎหมายที่มาจากประเทศในแคริบเบียนนั้นมีมากพอสมควร โดยในประเด็นนี้หากเมื่อถึงวันที่ประธานาธิบดีทรัมป์ดำเนินการนโยบายดังกล่าวขึ้นจริง ก็อาจทำให้เกิดผลกระทบทางสังคมและมนุษยธรรม ซ้ำร้ายผลกระทบทางเศรษฐกิจในบางประเทศของแคริบเบียนได้อีกประการหนึ่งเช่นกัน
ด้วยแนวโน้มและทิศทางที่อาจก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในสภาพเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในแคริบเบียนในภาพรวม ตามเนื้อหาที่ได้อภิปรายมาทั้งหมดนั้น อาจทำให้การดำเนินการค้ากับประเทศในแคริบเบียนในอนาคตก็มีปัจจัยที่ควรคำนึงถึงเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม จนกว่าจะถึงวันที่ประธานาธิบดีทรัมป์ขึ้นดำรงตำแหน่งสมัยที่สองก็อาจเกิดความเปลี่ยนแปลงไปได้ในหลายทิศทางอีกเช่นกัน
คำอธิบายภาพประกอบ: ภาพการพบกันระหว่างประธานาธิบดีทรัมป์และผู้นำประเทศในภูมิภาคแคริบเบียน ประกอบด้วยสาธารณรัฐโดมินิกัน, จาเมกา, บาฮามาส, เซ็นต์ลูเซีย และเฮติ เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2019
ที่มา: Caribbean News Global
Thema: “What Trump’s Return Means for the Caribbean – U.S. Relations”
โดย: Sir Ronald Sanders
สคต. ไมอามี /วันที่ 7 พฤศจิกายน 2567