ข้อมูลจากการสำรวจล่าสุดของรัฐบาลชิลีร่วมกับคณะสัตวแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัย Universidad Catolica de Chile [1] เผยถึงปริมาณสัตว์เลี้ยงในประเทศชิลี โดยสุนัขและแมวเป็นสัตว์เลี้ยงยอดนิยม คิดเป็นสัดส่วนรวมกันกว่าร้อยละ 95 ของปริมาณสัตว์เลี้ยงทั้งหมด หรือคิดเป็นจำนวนถึง 12.5 ล้านตัว ซึ่งแบ่งเป็นสุนัข 8.3 ล้านตัว และแมว 4.2 ล้านตัว เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนประชากรของประเทศชิลีที่มีจำนวน 19.7[2] ล้านคน พบว่าผู้ที่ครอบครองสัตว์เลี้ยงมีจำนวนกว่าร้อยละ 76[3] โดยชิลีเป็นประเทศที่มีปริมาณสุนัขและแมวมากที่สุดเป็นอันดับสองในภูมิภาคลาตินอเมริการองจากบราซิล ทั้งนี้ ความนิยมและปริมาณสัตว์เลี้ยงในชิลีได้เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากจำนวนสัตว์เลี้ยงที่ลงทะเบียนฝังไมโครชิพกับสำนักงานเขตในแต่ละท้องที่[4] พบว่ามีปริมาณเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 3 ต่อปี โดยมีการลงทะเบียนและฝังไมโครชิพไปแล้วกว่า 5.1 ล้านตัว จุดประสงค์หลักในการเลี้ยงสัตว์เลี้ยงของชาวชิลี ได้แก่ เลี้ยงไว้เพื่อความสุขและคลายเหงาร้อยละ 89.2 เพื่อความปลอดภัย (เฝ้าบ้าน) ร้อยละ4.8 เพื่อใช้ทำงาน (สุนัขตำรวจ ช่วยคนพิการทางสายตา ดูแลปศุสัตว์ กำจัดหนู) ร้อยละ 3.4 และเพื่อการบำบัดร้อยละ 0.5 ตามลำดับ
นอกจากนี้ ผลการสำรวจยังเผยว่าเจ้าของสัตว์เลี้ยงชาวชิลีคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 93[5] ดูแลและให้ความรักแก่สัตว์เลี้ยงเสมือนเป็นสมาชิกในครอบครัว (Pet Humanization) โดยแหล่งที่มาของสัตว์เลี้ยงมาจากการรับเลี้ยงคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 89.9 ในขณะที่การซื้อมาเลี้ยงมีเพียงร้อยละ 8.6 ข้อมูลจากธนาคาร Credito y Invesiones เผยว่าชาวชิลีมีค่าใช้จ่ายในการดูแลสัตว์เลี้ยงเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 955 เหรียญสหรัฐต่อตัวต่อปี[6] ในขณะที่ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 824 เหรียญสหรัฐต่อตัวต่อปี[7] โดยค่าใช้จ่ายดังกล่าวเป็นค่าอาหารสัตว์กว่าร้อยละ 72.8 สอดคล้องกับข้อมูลจากผู้ประกอบการค้าปลีกรายใหญ่ของประเทศอย่าง Fallabella ที่ให้ข้อมูลว่าจำนวนยอดขายสินค้าเกี่ยวกับอาหารสัตว์ ทั้งแบบเม็ด แบบเปียก และขนมในปี 2567 เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 48 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
บทวิเคราะห์ / ข้อคิดเห็นจาก สคต. ณ กรุงซันติอาโก
จากสภาวะเศรษฐกิจและโครงสร้างทางสังคมของชิลีที่เปลี่ยนไป ครอบครัวมีขนาดที่เล็กลง คนวัยทำงานอาศัยอยู่คนเดียวมากขึ้น อัตราการมีบุตรลดลง ในขณะที่ผู้สูงอายุมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น[1] การเลี้ยงสัตว์ไว้เพื่อความสุขและคลายเหงา จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน จากจำนวนผู้ครอบครองสัตว์เลี้ยงในชิลีที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งเจ้าของยังให้ความสำคัญต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของสัตว์เลี้ยง ประกอบกับเทคโนโลยีทางด้านโภชนาการและการรักษาทำให้สัตว์เลี้ยงในปัจจุบันมีอายุยืนยาวขึ้นกว่า 2 เท่า[2] ส่งผลให้ความต้องการอาหารสัตว์เลี้ยงเพิ่มสูงขึ้น เป็นแรงขับเคลื่อนให้ภาคอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ของชิลีเติบโตอย่างต่อเนื่อง
จากการสืบค้นข้อมูลของ สคต.ฯ พบว่าส่วนแบ่งทางการตลาดเฉพาะอาหารสุนัขและอาหารแมวรวมกันคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 92 ของมูลค่าตลาดอาหารสัตว์ทั้งหมด และคาดว่าตลาดอาหารสัตว์จะมีแนวโน้มและมูลค่าเพิ่มขึ้นต่อไปที่ประมาณร้อยละ 5.67 ต่อปีระหว่างปี 2567 – 2572 โดยพฤติกรรมผู้บริโภคชาวชิลีนิยมซื้ออาหารสัตว์แบบแห้งมากกว่าแบบเปียก เนื่องจากมีราคาคุ้มค่าและง่ายต่อการเก็บรักษา ซึ่งชาวชิลีซื้ออาหารสัตว์เลี้ยงคิดเป็นปริมาณประมาณ 21.5 กิโลกรัมต่อตัวต่อปี[3] ผ่านช่องทางหน้าร้านค้า เช่น ร้านขายอาหารและอุปกรณ์สัตว์เลี้ยง คลินิกรักษาสัตว์และซูเปอร์มาร์เก็ตรวมกันคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 73.6[4] และซื้อจากช่องทางร้านค้าออนไลน์คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 26.4 อย่างไรก็ดี สคต.ฯ คาดว่าแนวโน้มการซื้อขายผ่านช่องทางออนไลน์จะสามารถเติบโตต่อไปได้อีกในอนาคต โดยยอดขายอาหารสัตว์เลี้ยงของชิลี ในปี 2567 จะมีมูลค่ากว่า 1.48 พันล้านเหรียญสหรัฐ ปริมาณความต้องการอาหารสัตว์อยู่ที่ 4.2 ล้านตันต่อปี และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 4.4 ล้านตันในปี 2568 นอกจากนี้ จากข้อมูลขององค์กร Global animal health association[5] เผยว่าอาหารพิเศษสำหรับสัตว์สูงอายุ สัตว์ป่วย มีการขยายตัวมากที่สุดที่ร้อยละ 14.2[6]
แม้ว่าชิลีจะสามารถผลิตอาหารสัตว์ได้ แต่ก็ยังต้องพึ่งพาการนำเข้าอาหารสัตว์สำเร็จรูปและวัตถุดิบ (พิกัดศุลกากรที่ 23) เพื่อใช้ในการผลิต ซึ่งในปี 2566 พบว่าชิลีมีการนำเข้าอาหารสัตว์ในพิกัดศุลกากรดังกล่าว คิดเป็นปริมาณ 1.7 ล้านตัน หรือคิดเป็นมูลค่า 1,332 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยชิลีนำเข้าอาหารสัตว์เลี้ยงคิดเป็นมูลค่าลำดับที่ 12 ของการนำเข้าสินค้าทั้งหมด และแหล่งนำเข้าอาหารสัตว์มากที่สุด 3 อันดับแรกจาก (1) อาร์เจนติน่า (364 ล้านเหรียญสหรัฐ) (2) บราซิล (295 ล้านเหรียญสหรัฐ) และ (3) สหรัฐอเมริกา (174 ล้านเหรียญสหรัฐ) ตามลำดับ
ในส่วนของประเทศไทย เป็นแหล่งนำเข้าอาหารสัตว์ในลำดับที่ 14 ของชิลี โดยในปี 2566 ไทยส่งออกสินค้าอาหารสัตว์ไปยังชิลีคิดเป็นปริมาณ 700 ตัน รวมมูลค่า 9.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมีขยายตัวเพิ่มขึ้นคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 12.6 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ทั้งนี้ ตลาดสินค้าอาหารสัตว์ของชิลีเป็นตลาดที่มีศักยภาพและมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากกระแสการดูแลสัตว์เสมือนเป็นสมาชิกในครอบครัว (Humanization) ส่งผลดีต่อการขยายตัวของสินค้าในกลุ่มอาหารสัตว์ และสินค้าในหมวดอื่น ๆ เช่น วัคซีน-ยารักษาโรค อุปกรณ์ตัดขน เสื้อผ้าและของเล่น เป็นต้น ทั้งนี้ สคต.ฯ พบว่า ตั้งแต่ปี 2560 ถึง 2566 อัตราการใช้จ่ายของเจ้าของสัตว์เลี้ยงเพิ่มขึ้นคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 33.8 สำหรับสุนัข ร้อยละ 21.7 สำหรับแมว และ 12.7 สำหรับสัตว์เลี้ยงอื่น ๆ ตามลำดับ[1]
สคต.ฯ เห็นว่าสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยง เป็นตลาดที่ไม่เพียงแข่งขันกันในด้านราคาและคุณภาพสินค้าของเท่านั้น การสื่อสารและทำการตลาดที่ดีจะส่งจะส่งผลต่ออำนาจในการตัดสินใจของเจ้าของ เนื่องจากผู้เลี้ยงในปัจจุบันให้ความใส่ใจและเลือกสรรผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและยินดีที่จะจ่ายเพื่อดูแลสัตว์เลี้ยงที่ตนรักมากขึ้น จึงเป็นโอกาสที่ดีของสินค้าอาหารสัตว์จากไทย เนื่องจากไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงอันดับที่ 4 ของโลกและมีความได้เปรียบด้านวัตถุดิบที่ใช้ผลิตอาหารสัตว์เลี้ยง โดยผู้ประกอบการไทยสามารถพัฒนาสูตรอาหารสัตว์เลี้ยงระดับพรีเมียม หรืออาหารสัตว์เลี้ยงที่มีคุณสมบัติเฉพาะ เช่น อาหารโซเดียมต่ำ โปรตีนสูง อาหารเพื่อสัตว์สูงอายุ อาหารเพื่อสัตว์ป่วย เป็นต้น รวมทั้ง การสร้างแบรนด์สินค้าที่เป็นของตนเองให้มากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงด้านการแข่งขันที่รุนแรงและมาตรฐานทางการค้าต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนที่มีความเข้มงวดมากกขึ้นในปัจจุบัน นอกจากนี้ สินค้าในกลุ่มอาหารสัตว์จากไทยยังได้รับสิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-ชิลี ทำให้เพิ่มโอกาสในการแข่งขันแก่ผู้ส่งออกไทยมากขึ้น สำหรับผู้ประกอบการด้านอาหารสัตว์ของไทยท่านใดที่สนใจและต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อมายังสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงซันติอาโก ผ่านช่องทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ได้ที่ thaitrade@ttcsantiago.cl
____________________________________
Internationales Handelsförderungsbüro in Santiago
กันยายน 2567
[1] https://www.mordorintelligence.com/industry-reports/south-america-pet-food-market
[1] https://www.ine.cl
[2] https://healthforanimals.org/wp-content/uploads/2022/07/Global-State-of-Pet-Care.pdf
[3] https://www.statista.com/outlook/cmo/food/pet-food/chile
[4] https://www.statista.com/outlook/cmo/food/pet-food/chile
[5] https://healthforanimals.org/
[6] https://healthforanimals.org/wp-content/uploads/2022/07/Global-State-of-Pet-Care.pdf
[1] https://www.tenenciaresponsablemascotas.cl/wp-content/uploads/2022/03/Bolet%C3%ADn-T%C3%A9cnico-Estudio-poblaci%C3%B3n-PTRAC.pdf
[2] https://world-meters.com/population/chile
[3] https://medicinaveterinaria.uc.cl/htdocs/content/uploads/2024/04/Atero-N-et-al-2024.pdf
[4] https://registratumascota.cl/inicio.xhtml
[5] https://medicinaveterinaria.uc.cl/htdocs/content/uploads/2024/04/Atero-N-et-al-2024.pdf
[6]https://www.emol.com/noticias/Economia/2024/07/16/1136504/mercado-mascotas-chile.html
[7] https://www.thezebra.com/resources/research/pet-ownership-statistics/