แอฟริกาใต้คาดหวังสหรัฐฯ ต่ออายุ AGOA เพื่อสิทธิประโยชน์ทางการค้า

เมื่อปี 2543 ประธานาธิบดี บิลคลินตัน ได้ริเริ่มใช้ พระราชบัญญัติการเติบโตและโอกาสของแอฟริกา (African Growth and Opportunity Act : AGOA) ซึ่งอนุญาตให้สินค้าเกษตรสินค้าอุตสาหกรรมรายการที่กำหนด สามารถส่งออกไปสหรัฐฯ โดยไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า

AGOA จะหมดอายุในเดือนกันยายน 2568 ขณะนี้ สหรัฐฯอยู่ระหว่างพิจารณาต่ออายุ AGOA      อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลว่า ได้มีการเรียกร้องให้สหรัฐฯ ถอดแอฟริกาใต้จาก AGAO เนื่องจากจุดยืนทางภูมิรัฐศาสตร์ของแอฟริกาใต้ อาทิ การปฏิเสธการประณามรัสเซียกรณีรุกรานยูเครน การเรียกร้องศาลอาญาระหว่างประเทศกรณีอิสราเอลสังหารหมู่ที่กาซา

แดริล เกลเซอร์ นักวิเคราะห์ด้านการเมืองจากมหาวิทยาลัยวิทวอเตอร์สแรนด์ เห็นว่า ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯกับแอฟริกาใต้ (ภายใต้การนำรัฐบาลจากพรรค ANC) ยังคงมีอยู่ตั้งแต่ปี 2543 เนื่องจากนโยบายการต่างประเทศของพรรค ANC คือ ให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนและความปรารถนาที่คงไว้ซึ่งประชาธิปไตย ในขณะที่ต่อต้านจักรวรรดินิยมหรือจักรวรรดินิยมตะวันตก

ดาวี รูดห์ นักเศรษฐศาสตร์จากแอฟริกาใต้ เห็นว่า แอฟริกาใต้ไม่สามารถสูญเสีย AGOA ได้ เนื่องจากขณะนี้ แอฟริกาใต้มีอัตราการว่างงานสูงและเศรษฐกิจขยายตัวช้า ทั้งนี้ การบริหารประเทศโดยรัฐบาลชุดใหม่ซึ่งเป็นผสมระหว่างพรรค ANC และพรรค DA (ผลจากการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนพฤษภาคม 2567)               จะช่วยแก้ไขปัญหาของประเทศได้ เนื่องจากมีความเป็นมิตรต่อภาคธุรกิจเพิ่มขึ้น

แม้ว่ายังคงมีความตึงเครียดทางการเมือง แอฟริกาใต้ได้ส่งผู้แทนไปยังวอชิงตัน ดีซี สหรัฐฯ เพื่อสนับสนุนการคงอยู่ของ AGOA

ทั้งนี้ ข้อมูลจากสํานักงานสํามะโนประชากรของสหรัฐอเมริกา ปี 2563 ระบุว่า แอฟริกาใต้เป็น  คู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดในทวีปแอฟริกา มีมูลค่าการค้าระหว่างประเทศมากกว่า 20 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

หากแอฟริกาใต้ถูกถอดจาก AGOA แอฟริกาใต้ยังคงสามารถค้าระหว่างประเทศกับสหรัฐฯได้ แต่จะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษีอากร ในขณะที่ประเทศอื่นในแอฟริกายังคงได้ประโยชน์จาก AGOA

ข้อมูลเพิ่มเติมและความเห็นของสำนักงานฯ : พระราชบัญญัติการเติบโตและโอกาสของแอฟริกา (AGOA : African Growth and Opportunity Act) ของสหรัฐฯ ได้ให้ประโยชน์แก่ 32 ประเทศในทวีปแอฟริกา (ข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน 2567) เนื่องจากสหรัฐฯ อนุญาตให้สินค้ากว่า 1,800 รายการ จากประเทศดังกล่าว สามารถเข้าสู่สหรัฐฯโดยไม่เสียภาษีนำเข้า นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังให้ความช่วยเหลือในมิติอื่นๆ อาทิ เศรษฐกิจ การลงทุน การเมือง ทั้งนี้ วัตถุประสงค์หลักของพระราชบัญญัตินี้ เพื่อช่วยกระตุ้นการพัฒนาเศรษฐกิจ รวมทั้งปกป้องแรงงานและสิทธิมนุษยชน ตลอดจนสร้างความสัมพันธ์ลึกซึ้งระหว่างสหรัฐฯและประเทศในแอฟริกา โดยเงื่อนไขสำคัญของการจะได้รับสิทธิประโยชน์จาก AGOA คือ ไม่สนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของสหรัฐฯ

สถิติจาก South African Revenue Service ประมวลโดย S&P Global ระบุว่า ปี 2566 การค้าระหว่างแอฟริกาใต้กับสหรัฐฯ มูลค่า 17,601.59 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ลดลงจากปี 2565 ร้อยละ 7.5) โดยแอฟริกาใต้ส่งออกไปสหรัฐฯ มูลค่า 8,429.82 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ส่งออกไปจีนมากที่สุด รองลงมาคือสหรัฐฯ อนึ่ง ส่งออกไปไทยอันดับที่ 39) นำเข้าจากสหรัฐฯ 9,171.76 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (นำเข้าจากจีนมากที่สุด รองลงมาคือสหรัฐฯ อนึ่ง นำเข้าจากไทยอันดับที่ 6) ทั้งนี้ สินค้าส่งออกสำคัญของแอฟริกาใต้ไปสหรัฐฯ อาทิ โลหะมีค่า/กึ่งมีค่า (ร้อยละ 36 ของการส่งออกทั้งหมดไปสหรัฐฯ) ยานพาหนะและชิ้นส่วน (ร้อยละ 20) อะลูมิเนียม (ร้อยละ 7) ส่วนสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯมาแอฟริกาใต้ อาทิ หนังสือ/สิ่งพิมพ์ (ร้อยละ 18 ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมดจากสหรัฐฯ) เครื่องจักร/เครื่องกลและส่วนประกอบ (ร้อยละ 17) น้ำมัน/แร่ธาตุเชื้อเพลิง (ร้อยละ  11)

เนื่องจากสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกที่สำคัญอย่างมากของแอฟริกาใต้ หากปี 2568 สหรัฐฯ ไม่ถอดแอฟริกาใต้ออกจาก AGOA ย่อมจะเกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและการค้า ตลอดจนการจ้างงานของแอฟริกาใต้อย่างมหาศาล จึงต้องจับตามองผลการเลือกตั้งสหรัฐฯว่าจะเป็นอย่างไร เนื่องจากจะบ่งชี้ทิศทางภูมิทัศน์ทางการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐฯและแอฟริกาใต้ในอนาคต

สำหรับผู้ประกอบการไทยที่ส่งออกสินค้าไปยังแอฟริกาใต้ และสินค้าดังกล่าวอยู่ในห่วงโซ่อุปทานการผลิตสินค้าของแอฟริกาใต้ที่ส่งออกไปสหรัฐฯ จำเป็นต้องติดตามผลการพิจารณาของสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด รวมทั้งอาจกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจ โดยมองหาคู่ค้ารายใหม่เพิ่มเติม

 

ที่มา www.voanews.com

เครดิตภาพ www.fairplaymovement.org

 

de_DEGerman