ปัญหาโรคน้ำหนักเกิน (โรคอ้วน) ในออสเตรเลียซึ่งเป็นที่มาของการเกิดโรคเบาหวานเป็นปัญหาที่รัฐบาลออสเตรเลียพยายามแก้ไขมายาวนาน แต่จำนวนผู้ป่วยโรคเบาหวานในออสเตรเลียยังเพิ่มจำนวนขึ้นในแต่ละปี ข้อมูลโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติออสเตรเลีย ระบุว่า ปี 2565 มีผู้ป่วยโรคเบาหวานจำนวน 1.3 ล้านคน (คิดเป็นร้อยละ 5.3 ของประชากรทั้งหมด)
แม้ว่าที่ผ่านมา ช่วงเดือนกรกฎาคม 2563 รัฐบาลออสเตรเลียได้ริเริ่มโครงการ Partnership reformulation program เพื่อจูงใจให้ผู้ผลิตสินค้าอาหารปรับสูตรอาหารและเครื่องดื่มโดยลดปริมาณน้ำตาล โซเดียมและไขมันอิ่มตัวในสินค้าอาหารร่วมกัน ซึ่งเป็นโครงการตามความสมัครใจ นอกจากนี้ Australian Beverages Council ได้เชิญชวนผู้ผลิตสินค้าเครื่องดื่มให้เข้าร่วมโครงการพร้อมตั้งเป้าลดปริมาณน้ำตาลในสินค้าเครื่องดื่มให้ได้ร้อยละ 20 ภายในปี 2568 แต่มีเพียงผู้ผลิต 4 รายที่เข้าร่วม
ศาสตราจารย์ Steve Robson ประธานบริหาร Australian Medical Association ระบุว่า ปัจจุบันปริมาณน้ำตาลที่ตรวจพบในสินค้าเครื่องดื่มน้ำอัดลม มีน้ำตาลผสม 6.9 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร (เพิ่มขึ้นจาก 4.9 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตรในปี 2564) และปัจจุบันชาวออสเตรเลียบริโภคน้ำตาลเฉลี่ย 58-60 กรัมต่อวัน ซึ่งเป็นปริมาณน้ำตาลที่ผสมในสินค้าเครื่องดื่มมากที่สุด สะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลจำเป็นต้องเรียกเก็บภาษีน้ำตาลในสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม (Sugar tax) เพื่อควบคุมปริมาณน้ำตาลในสินค้าเครื่องดื่มที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น
รายงานโดยสถาบัน Grattan ระบุว่า หากรัฐบาลเรียกเก็บภาษีน้ำตาลในเครื่องดื่มร้อยละ 20 จะสามารถลดจำนวนผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคเบาหวาน Type 2 และโรคหัวใจล้มเหลวได้กว่า 2 หมื่นราย อีกทั้ง ประเทศต่างๆมากกว่า 100 ประเทศทั่วโลกได้มีการเรียกเก็บภาษีน้ำตาลในเครื่องดื่มแล้ว ดังนั้น สถาบัน องค์กรและหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องส่วนใหญ่สนับสนุนให้รัฐบาลกลางให้ความสำคัญต่อสุขอนามัยที่ดีขึ้นของประชาชนเป็นหลัก (โดยเฉพาะเด็ก) โดยกำหนดกฎระเบียบควบคุมการโฆษณาสินค้า ปรับปรุงระเบียบการปิดฉลากสินค้า และข้อมูลด้านโภชนาการอย่างเคร่งครัด ซึ่งนอกจากจะช่วยลดปัญหาโรคอ้วนที่ก่อให้เกิดโรคเบาหวานแล้ว เงินรายได้จากการเก็บภาษี Sugar tax (ประมาณ 1,400 ล้านเหรียญออสเตรเลีย) ยังสามารถนำไปเป็นเงินกองทุนในโครงการฟื้นฟูสุขภาพกาย/ใจที่สำคัญต่างๆ ต่อไป
ความคืบหน้าล่าสุด มาตรการเรียกเก็บภาษี Sugar tax ถูกเสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรยังไม่ผ่านมติเห็นชอบจากรัฐสภา เนื่องจากความกังวลต่อราคาสินค้าที่อาจปรับเพิ่มขึ้นกระทบต่อครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำที่กำลังเผชิญกับความกดดันด้านค่าครองชีพในปัจจุบัน
………………………………………………………………………………………………..
Königlich Thail. Generalkonsulat, Büro für internationale Handelsförderung in Sydney-Stadt
ที่มา:
www.smh.com.au