“คุณภาพที่เหมาะกับราคาเป็นเหตุผลในการเลือกซื้อเครื่องสำอางของชาวญี่ปุ่น”

ผลสำรวจ “Beauty Survey 2023” โดยบริษัท Euromonitor International (สหราชอาณาจักร) พบว่าผู้บริโภคในญี่ปุ่นเลือกซื้อสิ่งประทินผิว เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์บำรุงเส้นผมจากราคาเป็นหลัก ซึ่งต่างจากประเทศในเอเชียแปซิฟิก หรือประเทศอื่นๆ ในโลก
“คุณภาพที่เหมาะกับราคาเป็นเหตุผลในการเลือกซื้อเครื่องสำอางของชาวญี่ปุ่น”                              ผลสำรวจดังกล่าว จัดทำขึ้นเมื่อปี 2566 โดยเป็นการสำรวจจาก 20 ประเทศทั่วโลกเกี่ยวกับการบริโภคสิ่งประทินผิว เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์บำรุงเส้นผมและหนังศีรษะ พบว่า ชาวญี่ปุ่นเลือกซื้อสิ่งประทินผิวจาก “ความเหมาะสมกับผิว (36.8%)” เป็นเหตุผลที่มีคนเลือกมากที่สุด ถัดมาคือ “คุณภาพที่เหมาะกับราคา (32.0%)” และตามมาด้วย “ราคาถูก (24.6%)” ในขณะที่ทั่วโลกเลือกซื้อจาก “คุณภาพที่เหมาะกับราคา (31.8%)” “คุณภาพสูง (27.6%)” และ “ความเหมาะสมกับผิว (24.9%)”
สำหรับเหตุผลในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์บำรุงเส้นผมและหนังศีรษะ พบว่าญี่ปุ่นเลือกซื้อจาก “ความเหมาะสมกับเส้นผมและหนังศีรษะ (30.8%)” “ราคาถูก (23.8%)” และ “คุณภาพที่เหมาะกับราคา (23.1%)” ในขณะที่ทั่วโลกเลือกซื้อจาก “คุณภาพที่เหมาะกับราคา (31.3%)” “ความเหมาะสมกับเส้นผมและหนังศีรษะ (25.3%)” และ “คุณภาพสูง (24.9%)”
จากผลสำรวจดังกล่าวอาจกล่าวได้ว่า ผู้บริโภคญี่ปุ่นเลือกซื้อสินค้าจากคุณภาพที่เหมาะสมกับราคาและจบลงด้วยการซื้อสินค้าราคาถูก และแทบไม่เลือกซื้อสินค้าคุณภาพสูงหรือของแบรนด์เนม เพราะผู้บริโภคมีความรู้เรื่องส่วนผสมของเครื่องสำอาง รวมถึงผิว เส้นผม และหนังศีรษะของตนเองค่อนข้างมาก สามารถพิจารณาเลือกซื้อสินค้าได้จากส่วนผสมที่ระบุบนฉลาก จึงไม่ต้องพึ่งพาการ ตัดสินใจซื้อจากแบรนด์ ในทางกลับกันเครื่องสำอางที่วางจำหน่ายในร้านขายยา (Drug Store) ทั่วไปที่เรียกว่า “Puti Pra Cosme” (มาจากคำว่า Puti Price Cosmetic หมายถึงเครื่องสำอางราคาย่อมเยา ที่มา : https://kotobank.jp/word) เป็นเครื่องสำอางที่บรรจุในกล่องพลาสติก ปริมาณไม่มาก เป็นที่นิยมของผู้บริโภคหลากหลายวัย ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ซึ่งเครื่องสำอางของเกาหลี จีน และไทย ต่างก็ได้รับความนิยมไม่แพ้เครื่องสำอางของญี่ปุ่นเช่นกัน

บทวิเคราะห์ (ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย)
ขนาดตลาดสินค้าสิ่งประทินผิว เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์บำรุงเส้นผม ในญี่ปุ่น สำรวจโดยบริษัท Yano Research Institute Ltd. เมื่อปี 2566 พบว่า ในปี 2565 มีมูลค่าราว 2.37 ล้านล้านเยน หรือประมาณ 552,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ร้อยละ 3.5 และในปี 2566 ก็คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 3.5 เช่นกัน และคาดว่าในระยะ 3-5 ปีจากนี้ ผู้ผลิตมีแนวโน้มจะพัฒนาสินค้าเน้นผู้บริโภคกลุ่ม Gen-Z และพยายามพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อจำหน่ายในรูปแบบ D2C (Direct to Customer)
ผู้บริโภคในญี่ปุ่นนิยมเลือกซื้อสิ่งประทินผิว เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์บำรุงเส้นผม ที่ราคาเหมาะกับคุณภาพ ซึ่งมีแนวโน้มเลือกซื้อสินค้าราคาประหยัด สาเหตุหลักมาจากค่าครองชีพที่สูงขึ้นแต่รายได้ของชาวญี่ปุ่นไม่ได้เพิ่มตาม ค่าเงินเยนอ่อน และอีกหนึ่งสาเหตุที่นักเคราะห์กล่าวถึงคือจำนวนคลีนิคเสริมความงามที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในเมืองใหญ่ ผู้บริโภคจึงสามารถเข้าถึงบริการดังกล่าวได้ง่ายขึ้นในราคาเหมาะสม ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาสินค้าที่มีคุณภาพสูงอย่างเมื่อก่อน ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรงคือเครื่องสำอาง สิ่งประทินผิว โดยเฉพาะสินค้าแบรนด์เนม แบรนด์ดังจากต่างประเทศหลายแห่งต้องปิดร้านที่อยู่บนเคาน์เตอร์ในห้างสรรพสินค้าเพราะยอดขายตกลง ดังนั้น การประชาสัมพันธ์ดึงดูดผู้ซื้อญี่ปุ่นด้วยแบรนด์จึงเป็นเรื่องค่อนข้างยาก อย่างไรก็ดี จากแนวโน้มความนิยมสินค้า Puti Pra Cosme ทำให้สินค้าไทยมีโอกาสค่อนข้างสูงในการขยายช่องทางการจำหน่ายใน Drug Store และการขายออนไลน์ เพราะมีจุดแข็งเรื่องราคาและคุณภาพที่เหมาะกับผิวชาวญี่ปุ่น ไม่หลุดง่าย ทั้งยังสามารถป้องกันผิวจากฝุ่นและแสงแดดได้ดี

 

ฉบับที่ 37 ประจำวันที่ 8 – 14 มิถุนายน 2567
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
อ้างอิงจาก
หนังสือพิมพ์ Nikkei MJ ฉบับวันที่ 5 มิถุนายน 2567
เว็บไซต์ cosmelabo.shop
เว็บไซต์ https://www.yano.co.jp/press-release/show/press_id/3345
ภาพประกอบข่าวจากเว็บไซต์
https://anny.gift/4862/
https://i-voce.jp/feed/2697889/
https://www.cosmelabo.shop/

de_DEGerman