เนื้อหาสาระข่าว: สหพันธ์ค้าปลีกแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (National Retail Federation: NRF) ได้เผยแพร่รายงานการติดตามสภาวะธุรกิจค้าปลีกรายเดือน ซึ่งในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาพบว่ายอดขายปลีก (Retail Sales) ในภาพรวมทั้งหมดนั้นพุ่งสูงขึ้นสวนทางกับกระแสเงินเฟ้อในสหรัฐฯ และสวนทางชนิดพลิกฝ่ามือ ที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงจากยอดขายในเดือนเมษายนและแม้แต่นับย้อนไปถึงเดือนแรกของปีนี้ด้วยเช่นกัน โดยยอดขายปลีกในเดือนพฤษภาคมเติบโตขึ้นถึง 1.35 % โดยเปรียบเทียบเดือนต่อเดือน (month-to-month) ซึ่งถือว่ากระโดดทิ้งห่างเดือนก่อนหน้า ซึ่งมีค่าเฉลี่ยเติบโตโดยเปรียบเทียบเดือนต่อเดือนอยู่ที่ประมาณ 0.3 % เท่านั้น ทั้งนี้ ข้อมูลสถิติย้อนหลังปรากฎตามแผนภาพที่ 1
ภาพที่1: แสดงข้อมูลอัตราการเติบโตของยอดขายธุรกิจค้าปลีกในสหรัฐฯเปรียบเทียบระหว่างเดือนม.ค. – พ.ค. 2567
เมื่อพิจารณาจากแผนภาพที่ 1 จะพบว่าข้อมูลสถิติจากรายงานฉบับนี้ได้แยกข้อมูลยอดขายปลีกออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ยอดขายปลีกทั้งหมด (Total Retail Sales) ซึ่งหมายถึงยอดขายปลีกที่คำนวณจากธุรกิจทั้งหมด ยกเว้น รถยนต์และน้ำมันเชื้อเพลิง และ ยอดขายปลีกพื้นฐาน (Core Retail Sales) ซึ่งหมายถึงยอดขายปลีกที่คำนวณจากธุรกิจทั้งหมด ยกเว้น รถยนต์ น้ำมันเชื้อเพลิง และร้านอาหาร ซึ่งในส่วนของยอดขายปลีกทั้งหมดเติบโตขึ้น 1.35% และยอดขายปลีกพื้นฐานเติบโตขึ้น 1.2% ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
จากลักษณะการเติบโตของยอดขายธุรกิจค้าปลีกในเดือนที่ผ่านมาเช่นนี้ ทำให้ประธานสหพันธ์ NRF และ CEO คุณ Matthew Shay ได้ให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับพฤติกรรมผู้บริโภคในระยะนี้ว่า “ผู้บริโภคส่วนมากยังคังรักษาศักยภาพในการใช้จ่ายเงิน และเป็นผู้ที่ขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งขัน” โดยได้ระบุเพิ่มเติมว่า “การใช้จ่ายของผู้บริโภคนั้นได้รับอานิสงค์จากตลาดแรงงานและมูลค่าของค่าแรงที่แท้จริง (Real Wage) ที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่สภาวะเงินเฟ้อยังคงอยู่ แต่ดูเหมือนว่าจะกระทบกับภาคธุรกิจบริการมากกว่าภาคธุรกิจค้าปลีก ทั้งนี้ การปรับตัวสูงขึ้นของยอดขายธุรกิจค้าปลีกในเดือนพฤษภาคมที่เด่นชัดขนาดนี้ ทำให้เรายิ่งเชื่อว่าในเดือนเมษายนที่ผ่านมานั้นมีอะไรบางอย่างที่ผิดปกติไป”
อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาข้อมูลเชิงลึกลงไปในยอดขายปลีกในแต่ละภาคธุรกิจ พบว่า ในบางภาคธุรกิจมียอดขายลดน้อยลง แต่แม้จะลดลงก็ลดลงในอัตราที่ค่อนข้างต่ำ สวนทางกับอีกหลายภาคธุรกิจที่เติบโตขึ้นค่อนข้างสูงอย่างมีนัยยะสำคัญ ซึ่งในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาภาคธุรกิจที่มียอดขายปลีกเติบโตสูงโดดเด่น ได้แก่ ธุรกิจค้าออนไลน์และผู้ค้าปลีกแบบไม่มีหน้าร้าน (Non-Store Retailers), ธุรกิจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพและส่วนตัว (Health and Personal Care), ธุรกิจเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย (Clothing and Accessories), ธุรกิจสินค้าทั่วไป (General Merchandise), ธุรกิจสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม (Grocery and Beverage), ธุรกิจสินค้างานอดิเรกทั่วไป (Sporting Goods, Hobby, Music and Books) ในขณะที่ธุรกิจสินค้าบ้านและสวน (Building and Garden Supply), ธุรกิจสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า (Electronics) ธุรกิจสินค้าเฟอร์นิเจอร์และ ของตกแต่งบ้าน (Furniture and Home Furnishing) ยอดขายลดลง
ภาพที่ 2: ตารางแสดงข้อมูลอัตราเติบโตยอดขายปลีกธุรกิจแต่ละประเภทระหว่างเดือนมี.ค. – พ.ค. 2567
บทวิเคราะห์และข้อเสนอแนะ: ข้อมูลสถิติอัตรายอดขายปลีกรายเดือน และรายไตรมาส อาจเป็นอีกหนึ่งเครื่องชี้วัดพฤติกรรม และกำลังซื้อของผู้บริโภคในสหรัฐฯในช่วงระยะเวลานั้น ๆ ทำให้เข้าใจภาพรวมของพฤติกรรมและศักยภาพของผู้บริโภคในภาพรวมได้ โดยทั้งสองสิ่งอาจได้รับอิทธิพลกำหนดจากสภาวะทางเศรษฐกิจและสภาวะเงินเฟ้อในแต่ละช่วงเวลา แต่กระนั้นก็ไม่เสมอไปเมื่อเราพิจารณาจากข้อมูลในเดือนพฤษภาคมซึ่งอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 3.3% ซึ่งถือว่าเกินจากที่ธนาคารกลางสหรัฐฯตั้งเป้าไว้อยู่บ้าง (อัตราเงินเฟ้อ 2%) แต่ก็ยังปรากฎยอดการจับจ่ายใช้สอยที่เพิ่มสูงขึ้นได้เช่นกัน ในทางกลับกันข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการและผู้ส่งออกสินค้าจากประเทศไทย คือข้อมูลยอดขายปลีกแบบจำแนกตามประเภทธุรกิจ ที่ช่วยให้เห็นว่าสินค้ากลุ่มไหนกำลังเป็นที่ต้องการหรือที่นิยมในตลาดมากขึ้น และสินค้ากลุ่มใดมีความต้องการหรือความนิยมน้อยลงในขณะนั้น ซึ่งก็จะมีส่วนช่วยในการคาดเดาพฤติกรรมและการจัดสรรรายได้-รายจ่ายของผู้บริโภคในตลาดได้อย่างมีทิศทางและแม่นยำมากขึ้น อีกทั้งยังสามารถเป็นตัวสะท้อนให้เห็นถึงภาวะเศรษฐกิจและการใช้จ่ายภาคครัวเรือนในอนาคต จึงถือเป็นข้อมูลที่ผู้ประกอบการและผู้ส่งออกควรติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป
*********************************************************
ที่มา: National Retail Federation
Thema: “CNBC/NRF Retail Monitor Shows Retail Sales Jumped May After Slow April”
โดย: Matthew Shay
สคต. ไมอามี /วันที่ 12 มิถุนายน 2567