เจาะเทรนด์อีคอมเมิร์ซสิงคโปร์

การแข่งขันของตลาดอีคอมเมิร์ซในสิงคโปร์มีความรุนแรงและการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว คาดการณ์ว่า ในปี 2570 รายได้ของตลาดอีคอมเมิร์ซสิงคโปร์มีแนวโน้มที่จะสูงถึง 10,450 ล้านเหรียญสหรัฐฯ การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้นมีส่วนสำคัญต่อการเติบโตนี้ แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอย่าง Lazada, Shopee และอื่น ๆ ต่างนำเสนอบริการที่ยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง ซึ่งจะช่วยปรับปรุงประสบการณ์การซื้อของออนไลน์ของลูกค้าให้ดียิ่งขึ้น ผู้ประกอบการการค้าออนไลน์จึงต้องก้าวให้ทันกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงเพื่อรักษาความได้เปรียบทางธุรกิจไว้

Live Streaming, Mobile-First และ Omnichannel

เทรนด์ตลาดอีคอมเมิร์ซสิงคโปร์

ในปี 2566 ตลาดอีคอมเมิร์ซของสิงคโปร์ มีมูลค่า 5,210 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตต่อปีแบบทบต้น (CAGR) ที่ 11% และคาดว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 9,580 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในห้าปีข้างหน้า การไลฟ์สด (Live Streaming) กลายเป็นวิธีสำคัญในการส่งเสริมการขาย และขายสินค้าและบริการโดยตรงผ่านทางอินเทอร์เน็ต แพลตฟอร์มอย่าง Lazada, Shopee ได้ใช้ประโยชน์จากการไลฟ์สด ซึ่งช่วยให้นักการตลาดและธุรกิจสามารถเชื่อมต่อกับผู้ชมได้อย่างมีประสิทธิภาพ การซื้อของผ่านช่องทางทีวีแบบดั้งเดิมมีค่าใช้จ่ายที่สูง ในขณะที่การไลฟ์สดช่วยให้ผู้ค้าปลีกดึงดูดกลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพในการเป็นลูกค้าในอนาคตโดยไม่ต้องลงทุนจำนวนมากในโฆษณาทางทีวีหรือซื้อเวลาออกอากาศ

ชาวสิงคโปร์ส่วนใหญ่เข้าถึงการเชื่อมต่อบรอดแบนด์ความเร็วสูง ทำให้มีอัตราการใช้อินเทอร์เน็ตสูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตอย่างวงกว้างนี้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการใช้งานอีคอมเมิร์ซในกลุ่มประชากรต่าง ๆ นอกจากนี้ จากที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ และบทบาทในฐานะศูนย์กลางห่วงโซ่อุปทานระดับภูมิภาคของสิงคโปร์ได้กระตุ้นการเติบโตของอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนทำให้ชาวสิงคโปร์ซื้อของผ่านช่องทางข้ามพรมแดนเพิ่มขึ้นผ่านแพลตฟอร์มสากล และตลาดซื้อขาย (Marketplaces) เพื่อซื้อสินค้าในราคาที่ถูกลง

ในปี 2567 ร้านค้าปลีกออนไลน์สิงคโปร์ต่างปรับตัว และเตรียมพร้อมสำหรับการเติบโตผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซ ในปัจจุบัน บริษัทอีคอมเมิร์ซที่มีชื่อเสียงในสิงคโปร์ให้ความสำคัญกับ Mobile-First หรือการออกแบบเว็บไซต์เพื่อรองรับการแสดงผลในมือถือก่อนเป็นอันดับแรก แทนที่จะออกแบบสำหรับการแสดงผลบนคอมพิวเตอร์ เช่น แพลตฟอร์มที่มีชื่อเสียงของสิงคโปร์ Carousell เดิมเป็นแพลตฟอร์มเฉพาะมือถือ ต่อมาได้ขยายเพื่อรองรับผู้ใช้คอมพิวเตอร์เช่นกัน ระบบอีคอมเมิร์ซช่วยให้ผู้ใช้สามารถขายสินค้าได้อย่างรวดเร็วจากการถ่ายภาพด้วยสมาร์ทโฟนและมีส่วนร่วมกับผู้ซื้อที่มีศักยภาพผ่านการส่งข้อความโต้ตอบโดยตรงได้แบบทันที

ยุคหลังโควิด-19 ได้เปลี่ยนแปลงพื้นฐานตลาดอีคอมเมิร์ซของสิงคโปร์ โดยได้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคให้มีการใช้งานดิจิทัลที่เพิ่มขึ้น และการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้น กลยุทธ์การค้าแบบ Omnichannel การค้าบนโซเชียลมีเดียตลอดจนบริการ
โลจิสติกส์และการจัดส่งที่ได้รับการปรับปรุงได้กำหนดทิศทาง
อีคอมเมิร์ซที่กำลังขยายตัว นอกจากนี้ รัฐบาลสิงคโปร์ได้มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจอีคอมเมิร์ซของสิงคโปร์ในอนาคตอีกด้วย

อินเทอร์เน็ตมีบทบาทสำคัญต่อการเติบโต

จากข้อมูลของ Ookla ระบุว่า เมื่อต้นปี 2566 การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตบนมือถือผ่านเครือข่ายเซลลูลาร์ในสิงคโปร์มีความเร็วเฉลี่ย 63.41 Mbps และ 184.65 Mbps สำหรับการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตแบบประจำที่ ข้อมูลของ Ookla ยังแสดงให้เห็นว่าความเร็วเฉลี่ยของการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตบนมือถือของสิงคโปร์เพิ่มขึ้น 8.38 Mbps หรือ 15.2% ในปีก่อนหน้าจนถึงต้นปี 2566

ธุรกิจสตาร์ทอัพยูนิคอร์นในอาเซียนหลายรายมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซของสิงคโปร์ โดยเลือกที่จะจัดตั้งสำนักงานใหญ่ระดับภูมิภาคในสิงคโปร์ และใช้ประโยชน์จากทำเลที่ตั้งเชิงกลยุทธ์ เศรษฐกิจดิจิทัลขั้นสูง และตลาดอินเทอร์เน็ตที่มีการพัฒนาอย่างมาก ในปี 2567 สิงคโปร์มีสตาร์ทอัพยูนิคอร์นสูงสุด โดยมีทั้งหมด 15 บริษัท เช่น Grab, Carousell, Lazada, Ninja Van และ Shopee ซึ่งแต่ละรายมีมูลค่ามากกว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

สิงคโปร์ยังได้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลเพื่อให้สามารถฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดได้ดียิ่งขึ้นและฟื้นตัวอย่างยั่งยืน ในขณะนี้ การใช้อินเทอร์เน็ตในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการเติบโตอย่างมาก โดยได้แรงหนุนจากความเร็ว
บรอดแบนด์ที่เพิ่มขึ้น การชำระเงินออนไลน์ที่เพิ่มขึ้น และความก้าวหน้าในเทคโนโลยี 5G ด้วยการใช้คลื่นความถี่ที่สูงขึ้น (mmWaves) ซึ่งจะก่อให้เกิดการเชื่อมต่อที่ดีขึ้นในทุกพื้นที่

อาหารและของชำเป็นหมวดหมู่สินค้ายอดนิยม

การสำรวจเกี่ยวกับอีคอมเมิร์ซที่จัดทำโดย Rakuten Insight เผยให้เห็นว่า 52% ของผู้ตอบแบบสอบถามชาวสิงคโปร์ซื้ออาหารและของชำออนไลน์ในช่วงสามเดือนที่ผ่านมา และ 50% ซื้อสินค้าแฟชั่น เช่น เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย และเครื่องประดับ รายงานของ Statista ระบุว่า ในปี 2566 มูลค่าจากการซื้อสินค้าของชำออนไลน์สูงถึง 845.30 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ความต้องการบริการจัดส่งของชำออนไลน์พุ่งสูงขึ้น นอกจากนี้ บริการจัดส่งภายในวันเดียวกันและจัดส่งตามกำหนดเวลาได้รับความนิยมอย่างสูงในสิงคโปร์

คนส่วนใหญ่ชอบการชำระเงินแบบไร้เงินสด

ผู้บริโภคในสิงคโปร์นิยมความสะดวกสบายจากการซื้อของออนไลน์มากกว่าการไปซื้อสินค้าที่หน้าร้านเป็นอย่างมาก ถึงแม้ว่าร้านค้าจะมีทางเลือกในการชำระเงินแบบไร้เงินสด เช่น กระเป๋าเงินดิจิทัล บัตรเครดิต หรือบัตรเดบิต แต่ผู้ซื้อก็เลือกซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น เนื่องจากสามารถเลือกสถานที่/เวลาจัดส่งได้ การชำระเงินออนไลน์ช่วยลดการใช้เงินสด และทำให้การซื้อของมีความคล่องตัวมากขึ้น ประกอบกับการเลือกการชำระเงินแบบไร้สัมผัสช่วยลดความเสี่ยงด้านสุขอนามัย และเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค นอกจากนี้ กระเป๋าเงินดิจิทัลกลายเป็นวิธีการชำระเงินที่ได้รับความนิยมมากกว่าบัตรเครดิต โดยรายงานจาก The Straits Times คาดการณ์ว่า 27% ของตลาดสิงคโปร์จะใช้กระเป๋าเงินดิจิทัลภายในปี 2567 ซึ่งตัวเลือกการชำระเงินแบบไร้สัมผัสที่เพิ่มขึ้นนี้จะช่วยกระตุ้นการเติบโตในอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซของสิงคโปร์

การเพิ่มขึ้นของการซื้อของออนไลน์บนมือถือ

โทรศัพท์มือถือมีน้ำหนักเบาและพกพาได้สะดวกเมื่อเทียบกับคอมพิวเตอร์แล็ปท็อป ส่งผลให้จะมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น โดยเพิ่มขึ้นจาก 5.39 ล้านคนในปี 2565 เป็น 5.68 ล้านคนที่คาดการณ์ไว้ภายในปี 2568 การเพิ่มขึ้นนี้ช่วยกระตุ้นรายได้ของอีคอมเมิร์ซบนมือถือในสิงคโปร์ ข้อมูลจาก Statista ระบุว่า มูลค่าการซื้อของออนไลน์ผ่านมือถือจะมากกว่า 6,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในสิ้นปี 2567

     ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ

เทคโนโลยีในการค้าออนไลน์มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วและเพิ่มขึ้นหลากหลายรูปแบบ การซื้อของออนไลน์แพร่หลายไปสู่ผู้คนแทบทุกกลุ่มมากขึ้น ผู้ประกอบการในตลาดอีคอมเมิร์ซควรศึกษาแนวโน้มตลาด และใช้ประโยชน์จากเครื่องมือต่าง ๆ อยู่เสมอ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำธุรกิจ ในขณะเดียวกันผู้ประกอบการสามารถนำข้อมูลแนวโน้มตลาดอีคอมเมิร์ซในสิงคโปร์ไปพัฒนากลยุทธ์ ช่องทางการตลาดและการประชาสัมพันธ์สินค้าให้ได้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายชาวสิงคโปร์ เพื่อเพิ่มศักยภาพและโอกาสทางธุรกิจอีคอมเมิร์ซในตลาดสิงคโปร์ได้ต่อไป

แหล่งที่มาข้อมูล/ภาพ :

https://mediaonemarketing.com.sg/ecommerce-trends-in-singapore

de_DEGerman