ในช่วงปี 2563-2565 ที่ผ่านมา จีนใช้มาตรการทางการค้ากับสินค้าออสเตรเลียหลายรายการมีมูลค่าส่งออกสินค้ารวมทั้งหมดสูงถึง 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ล่าสุด จีนประกาศยกเลิกภาษีไวน์นำเข้าจากออสเตรเลียซึ่งเป็นหนึ่งในสินค้าออสเตรเลียที่ถูกใช้มาตรการด้านภาษี โดยเริ่มมีผลตั้นแต่ 31 มีนาคม 2567
ในปี 2562 ที่ผ่านมา ออสเตรเลียส่งออกไวน์ไปจีนมีมูลค่าสูงถึง 1,200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่ปี 2563 หลังจากรัฐบาลจีนประกาศใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนตลาด (Anti-dumping และ Countervailing) ทำให้การเก็บภาษีภายใต้มาตรการทางการค้าดังกล่าวสูงถึงร้อยละ 220 ส่งผลให้การส่งออกไวน์ออสเตรเลียลดลงอย่างมาก (ปี 2566 มีมูลค่าเพียง 10 ล้านเหรียญสหรัฐฯ)
ภายใต้การบริหารงานโดยรัฐบาล Albanese ความสัมพันธ์ทางการค้า/การทูตระหว่างจีนกับออสเตรเลียเริ่มฟื้นตัว และในปี 2566 (ช่วงตุลาคม) รัฐบาลจีนได้พิจารณาทบทวนมาตรการทางการค้า (มาตรการด้านภาษีและไม่ใช่ภาษีทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ) กับสินค้าไวน์นำเข้าจากออสเตรเลียใหม่โดยผลการพิจารณาล่าสุด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าจีนได้ประกาศยกเลิกการเรียกเก็บภาษีสินค้าไวน์ออสเตรเลียหลังจากที่ออสเตรเลียถอนฟ้องจีนผ่านองค์กรการค้าโลก World Trade Organisation (WTO) เกี่ยวกับการใช้มาตรการทางการค้า (ภาษีไวน์) ของจีน
การประกาศยกเลิกภาษีนำเข้าไวน์ของจีนในครั้งนี้ ทำให้การค้าระหว่างจีนและออสเตรเลียมีสภาพคล่องมากขึ้น และภาคอุตสาหกรรมไวน์ออสเตรเลียต่างยินดีต่อการกลับมาค้าขายกับจีนอีกครั้ง เนื่องจากจีนเป็นตลาดส่งออกไวน์ที่ใหญ่ที่สุดของออสเตรลีย (มีสัดส่วนร้อยละ 40 ของการส่งออกไวน์ออสเตรเลียทั้งหมด) แม้ว่าอัตราการดื่มไวน์ของชาวจีนปัจจุบันจะลดลงและ มูลค่าการส่งออกจะไม่สูงเทียบเท่ากับช่วงปี 2562 ก็ตาม
นอกจากนี้ ที่ผ่านมาจีนได้ประกาศลด/ยกเลิกมาตรการทางการค้ากับสินค้านำเข้าจากออสเตรเลียแล้วหลายรายการ อาทิ ถ่านหิน ไม้ ข้าวบาเลย์และฝ้าย แม้ว่าสินค้ากุ้งมังกรและเนื้อสัตว์ยังคงถูกมาตรการทางการค้าอยู่ แต่รัฐบาลออสเตรเลีย คาดหวังว่า จีนจะเริ่มผ่อนปรนมาตรการที่เข้มงวดสำหรับสินค้าเนื้อสัตว์และกุ้งมังกรที่ส่งออกจากออสเตรเลียในลำดับต่อไป
……………………………………………………………………………………………
Königlich Thail. Generalkonsulat, Büro für internationale Handelsförderung in Sydney-Stadt
ที่มา:
www.abc.net.au