รัฐบาลนายกรัฐมนตรี Giorgia Meloni เตรียมออกมาตรการจูงใจสำหรับยานยนต์ปี 2567 (Ecobonus) เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนหันมาเลือกใช้ยานยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในอิตาลีเพิ่มขึ้น ซึ่งจะมีผลใช้บังคับภายในสิ้นเดือนมีนาคม 2567 โดยมีงบประมาณสนับสนุน จำนวน 950 ล้านยูโร (โดย 10 ล้านยูโร เป็นเงินสนับสนุนสะสมมาจากปี 2566) โดยแผน Ecobonus จะมีการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนยานยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แบ่งเป็น 1) รถยนต์ 793 ล้านยูโร 2) รถจักรยานยนต์ขนาดเล็ก รถจักรยานยนต์ และรถขนาดเล็ก 4 ล้อ 35 ล้านยูโร 3) รถยนต์เพื่อการพาณิชย์ขนาดเล็ก 53 ล้านยูโร 4) รถยนต์มือสอง 20 ล้านยูโร และ 5) รถยนต์สำหรับการเช่าระยะยาว 50 ล้านยูโร
ประเภทของรถยนต์ที่มีสิทธิรับเงินสนับสนุน
• รถยนต์ เมื่อเปรียบเทียบกับมาตรการจูงใจสำหรับรถยนต์ในอดีตพบว่า มาตรการจูงใจสำหรับรถยนต์ (เงินสนับสนุน 793 ล้านยูโร) ในปี 2567 มีการเพิ่มประเภทของรถยนต์ต่างๆ เพิ่มขึ้น แบ่งเป็น รถยนต์ไฟฟ้าที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ระหว่าง 0 ถึง 20 กรัม/กิโลเมตร เงินสนับสนุน 240 ล้านยูโร รถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด (Plug-in hybrid – PHEV) มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ระหว่าง 21 ถึง 60 กรัม/กิโลเมตร เงินสนับสนุน 150 ล้านยูโร และรถยนต์ทั่วไปที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ระหว่าง 61 ถึง 135 กรัม/กิโลเมตร เช่น Full hybrid, Mild hybrid (MHEV) และเครื่องยนต์เบนซินหรือ LPG ที่มีอัตราการสิ้นเปลืองต่ำ เงินสนับสนุน 403 ล้านยูโร
• รถยนต์มือสอง รัฐบาลมีงบประมาณสนับสนุนการซื้อรถยนต์มือสอง จำนวน 20 ล้านยูโร ซึ่งถือเป็นแรงจูงใจสำหรับรถยนต์มือสองที่มีมูลค่าสูงสุดถึง 2,000 ยูโร โดยจะมุ่งเป้าไปที่บุคคลธรรมดาที่เป็นเจ้าของรถยนต์มาตรฐานยูโร 0 – ยูโร 4 (Euro 0 – Euro 4) ที่ต้องการทำลายรถยนต์ที่มีอยู่ภายในครอบครองอย่างน้อย 12 เดือน และต้องการซื้อรถยนต์ใหม่มือสองอย่างน้อยในมาตรฐานยูโร 6 (Euro 6) โดยรถยนต์จะต้องมีราคาจำหน่ายไม่เกิน 25,000 ยูโร (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)
• รถยนต์ 2 ล้อ รัฐบาลมีงบประมาณสนับสนุนการซื้อรถยนต์ 2 ล้อ จำนวน 35 ล้านยูโร แบ่งเป็น รถจักรยานยนต์ขนาดเล็ก รถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่ และรถขนาดเล็ก 4 ล้อ แบบใช้ไฟฟ้า 30 ล้านยูโร และรถจักรยานยนต์ที่ไม่ใช้ไฟฟ้า 5 ล้านยูโร โดยสำหรับรถจักรยานยนต์แบบใช้ไฟฟ้ามีสิทธิได้รับเงินสนับสนุนสูงสุดถึง 4,000 ยูโร
เงินสนับสนุนสำหรับการทำลายรถยนต์เก่าเพื่อซื้อรถยนต์ใหม่
สำหรับแผนในการสนับสนุนให้มีการทำลายรถยนต์เก่าตั้งแต่มาตรฐานยูโร 0 (EURO 0) ไปจนถึงมาตรฐานยูโร 5 (EURO 5) โดยมีเงื่อนไขว่าผู้มีสิทธิขอรับเงินสนับสนุนหรือสมาชิกในครอบครัวที่อาศัยอยู่ร่วมกันต้องเป็นเจ้าของรถยนต์ประเภทดังกล่าว เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 12 เดือน สำหรับเงินสนับสนุนการทำลายรถยนต์ประเภท 5 (EURO 5) จะมีเงื่อนไขว่าต้องเป็นการซื้อรถยนต์คันใหม่ที่เป็นรถยนต์ไฟฟ้าหรือรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริดเท่านั้น ในกรณีที่บุคคลที่มีรายได้ประจำปีของครอบครัว (ISEE) น้อยกว่า 30,000 ยูโร จะมีมาตรการจูงใจสูงสุดถึง 13,750 ยูโร ซึ่งนอกเหนือบุคคลทั่วไปที่มีสิทธิตามมาตรการดังกล่าวแล้ว นิติบุคคลก็สามารถเข้าถึงเงินจูงใจดังกล่าวได้ด้วย (ยกเว้นบริษัทตัวแทนจำหน่ายรถยนต์) สำหรับมาตรการจูงใจดังกล่าว มีข้อจำกัดในระยะเวลาของการเป็นเจ้าของยานยนต์ที่จะต้องทำลาย โดยสำหรับบุคคลธรรมดา ระยะเวลา 12 เดือน และสำหรับนิติบุคคล เพิ่มขึ้นเป็นระยะเวลา 24 เดือน
โดยกลไกของมาตรการจูงใจในปี 2567 ซึ่งจะให้เงินสนับสนุนเป็นพิเศษสำหรับผู้ที่ทำลายรถยนต์เก่าที่สร้างมลพิษมากขึ้น คือ มาตรฐานยูโร 0 ,1 และ 2 (EURO 0,1 และ 2) และสนับสนุนผู้ขับขี่รถยนต์ที่มีรายได้น้อย โดยซื้อรถยนต์ที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ระหว่าง 0-20 กรัม/กิโลเมตร จะได้รับเงินสนับสนุนเพิ่มขึ้นเป็น 11,000 ยูโร สำหรับรถยนต์มาตรฐานยูโร 3 (EURO 3) เงินสนับสนุนเพิ่มขึ้นเป็น 10,000 ยูโร แต่สำหรับรถยนต์มาตรฐานยูโร 4 (EURO 4) เงินสนับสนุนลดลงเหลือ 9,000 ยูโร แต่หากบุคคลที่มีรายได้ประจำปีของครอบครัว (ISEE) ต่ำกว่า 30,000 ยูโร จะปรับเพิ่มขึ้นเป็น 13,750 ยูโร 12,500 ยูโร และ 11,250 ยูโร ตามลำดับ
สำหรับการซื้อรถยนต์ที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้น ระหว่าง 21-60 กรัม/กิโลเมตร จะมีเงินจูงใจสนับสนุน ได้แก่ 8,000 ยูโร 6,000 ยูโร และ 5,500 ยูโร ตามลำดับ ซึ่งสำหรับ ISEE ที่ต่ำกว่า 30,000 ยูโร จะปรับเพิ่มขึ้นเป็น 10,000 ยูโร 7,500 ยูโร และ 6,875 ยูโร ตามลำดับ และการซื้อรถยนต์ที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ระหว่าง 61-135 กรัม/กิโลเมตร จะมีเงินจูงใจสนับสนุน ได้แก่ 3,000 ยูโร 2,000 ยูโร และ 1,500 ยูโร ตามลำดับ โดยจะสังเกตุว่าปี 2567 เงินจูงใจจะสนับสนุนให้ใช้กับรถยนต์ที่มีราคาจำหน่ายไม่เกิน (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) 35,000 ยูโร สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า และรถยนต์น้ำมันเชื้อเพลิง และ 45,000 ยูโร สำหรับรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด
ความคิดเห็นของ สคต. ณ เมืองมิลาน
รัฐบาลอิตาลี ที่นำโดย นายกรัฐมนตรี Giorgia Meloni ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการกระตุ้นให้ประชาชนหันมาใช้ยานยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญที่จะทำให้อิตาลีสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของกฎหมาย Fit for 55 ตามนโยบาย European Green Deal ของสหภาพยุโรป โดยปัจจุบันภายในเมืองใหญ่ๆ ในอิตาลี อย่างเช่นเมืองมิลาน ซึ่งเป็นเมืองที่มีการจราจรค่อนข้างหนาแน่น โดยเฉพาะในวันทำงาน โดยเทศบาลได้มีการออกระเบียบข้อบังคับในการกำหนดการใช้มาตรฐานยานยนต์ในใจกลางเมือง เพื่อหลีกเลี่ยงการปล่อยมลพิษเพิ่มขึ้น ซึ่งข้อบังคับดังกล่าวได้ส่งผลให้ประชาชนส่วนใหญ่ที่ต้องใช้รถยนต์มาตรฐานยูโร 0-5 เดินทางเข้ามาทำงานในเมือง ต้องเลือกใช้การเดินทางโดยยานพาหนะอื่น หรือระบบขนส่งมวลชนอื่น ๆ แทน แต่การที่รัฐบาลออกมาตรการจูงใจดังกล่าว อาจส่งผลให้ประชาชนส่วนใหญ่ สามารถเลือกซื้อรถยนต์ที่เป็นไปตามข้อบังคับดังกล่าวได้โดยไม่ก่อภาระหนี้สิ้นมากนัก ดังนั้น จึงถือเป็นโอกาสสำคัญสำหรับผู้ประกอบการไทย ในการขยายการส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ ชิ้นส่วนประกอบต่างๆ ที่ใช้สำหรับการผลิตรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อรองรับกับความต้องการของประชาชนในอิตาลี ที่มีแนวโน้มในการหันมาซื้อยานยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งที่ผ่านมา สินค้ารถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และรถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ ถือเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไทยมายังตลาดอิตาลี
โดยปี 2566 ไทยส่งออกสินค้ารถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ ขยายตัวถึง +41.08% หรือคิดเป็นมูลค่า 103.25 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในขณะที่ การส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบของไทยมายังอิตาลี มีแนวโน้มลดลง โดยเมื่อเปรียบเทียบในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา พบว่า ในปี 2561 ไทยส่งออกมายังอิตาลีมูลค่า 207.51 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัว 26.78% และในปี 2566 ไทยส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบมายังอิตาลี มูลค่าลดลงเหลือเพียง 133.50 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวจากปี 2565 7.54% ในขณะที่ จีนมีการส่งออกรถยนต์มายังอิตาลี ขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยปี 2563 อิตาลีมีการจำหน่ายรถยนต์ทั้งสิ้น จำนวน 1,566,448 คัน ซึ่งในจำนวนดังกล่าวเป็นรถยนต์ของจีน จำนวน 34,276 คัน หรือคิดเป็นสัดส่วน 2.19% ของรถยนต์ที่จำหน่ายในอิตาลีทั้งหมด โดยยี่ห้อรถยนต์ของจีนที่ได้รับความนิยมในอิตาลี ได้แก่ MG, Lynk & Co, BYD, DFSK, Aiways, Seres, BAIC, ZD และ Maxus
ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่ไทยต้องเร่งปรับเปลี่ยนโครงสร้างฐานการผลิตรถยนต์ จากรถยนต์สันดาปเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ที่มีแนวโน้มความต้องการเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบไปยังอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ในระบบซัพพลายเชนภายในประเทศ ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยควรศึกษาข้อมูลด้านเทคโนโลยีในการผลิตชิ้นส่วน อุปกรณ์ที่ใช้สำหรับยานยนต์ที่ใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันในตลาดยานยนต์ในอิตาลี/ยุโรป ที่ยานยนต์ไฟฟ้ากำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญในตลาดอิตาลีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
——————————————————————-
ที่มา: 1. https://www.ilsole24ore.com/art/incentivi-auto-novita-bonus-2000-euro-l-usato-ecco-chi-puo-richiederlo-AF5CV9YC 2. https://www.ilsole24ore.com/art/incentivi-auto-2024-fino-13750-euro-sconto-AFyftc9B และ 3. https://www.automobile.it/magazine/burocrazia/tabella-euro-auto-16219#euro-0
Abteilung für internationale Handelsförderung (Hauptsitz)
563 Nonthaburi Road, Bang Kra Sor, Ampheo Muang, Nonthaburi 11000, Thailand
Telefon: +66 2507 7999
E-Mail: saraban@ditp.go.th
User Online : 3 | Visitors : 6032417
Copyright © 2023
Abteilung für internationale Handelsförderung