การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมข้าวของเวียดนาม เพื่อพัฒนาคุณภาพและเพิ่มมูลค่าสินค้าข้าว เพื่อกระตุ้นการส่งออกข้าวในอนาคต
กระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบทเวียดนาม (MARD) ประสานงานกับคณะกรรมการประชาชนจังหวัดเหิ่ว ซาง (Hau Giang) บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง เพื่อจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อดูแนวโน้มตลาดข้าวโลกในอนาคต ซึ่งงานนี้เป็นส่วนหนึ่งของงาน Vietnam – Hau Giang International Rice Festival 2023
นายเจิ่น แถ่ง นาม (Tran Thanh Nam) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบทเวียดนามกล่าวว่า ภาคเกษตรกรรมกำลังจัดการฝึกอบรมแนวทางปฏิบัติสำหรับเกษตรกรวิธีใหม่ที่ยั่งยืน เพื่อสร้างห่วงโซ่คุณค่าข้าวที่ปลอดภัยและยั่งยืน สามารถแข่งขันในภาคอุตสาหกรรมได้ นอกจากนี้ยังเสนอโครงการพัฒนาเครื่องหมายการค้าข้าวเวียดนาม และพัฒนาส่งเสริมเจ้าหน้าที่การเกษตรเพื่อปรับปรุงขีดความสามารถของเกษตรกร
ในอนาคตกระทรวงเกษตรฯ เวียดนามจะยังคงทำงานร่วมกับกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป เพื่อสร้างกลไกและกำหนดเงื่อนไขการเชื่อมโยงห่วงโซ่สินค้าข้าว ไม่เพียงแต่ในประเทศเท่านั้นแต่รวมถึงทั่วภูมิภาคและทั่วโลก
กระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบทเวียดนาม (MARD) กำลังดำเนินโครงการพัฒนาการผลิตข้าวคุณภาพสูงอย่างยั่งยืนในพื้นที่ 1 ล้านเฮกตาร์ (ประมาณ 6.25 ล้านไร่) และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ร่วมกับการเติบโตสีเขียวในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงภายในปี 2573
จังหวัดเหิ่ว ซาง (Hau Giang) ได้ลงทะเบียนสำหรับโครงการนี้ 46,000 เฮกตาร์ นายเจิ่น วัน เฮวียน (Tran Van Huyen) ประธานสภาประชาชนจังหวัดกล่าวว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่สามารถใช้งานได้จริง และแสดงให้เห็นว่าเวียดนามเป็นประเทศที่มีความรับผิดชอบ โดยมีส่วนร่วมในระบบอาหารโลกที่ยั่งยืน
นายเล แถ่ง ฮวา (Le Thanh Hoa) รองผู้อำนวยการกรมเพาะปลูกพืช กระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบทเวียดนาม ระบุว่า เงื่อนไขที่เอื้ออำนวยต่อการส่งออกข้าวของเวียดนาม ได้แก่ นโยบายของรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพ การหยุดการส่งออกข้าวของอินเดีย การบำรุงรักษาตลาดแบบดั้งเดิมและศักยภาพที่เพิ่มมากขึ้นของตลาดใหม่
อย่างไรก็ตาม ปัญหาบางอย่างในภาคเกษตรกรรม ซึ่งรวมถึงอุปทานที่ไม่เสถียรเนื่องจากโครงสร้างการเพาะปลูก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเชื่อมต่อช่องทางการขายที่จำกัดพร้อมทั้งการขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีในการป้องกันและการประมวลผล การแข่งขันที่รุนแรง การกีดกันทางการค้าที่เพิ่มมากขึ้นและอุปสรรคทางเทคนิค การบริโภคที่ลดลงเนื่องจากความไม่แน่นอนทางด้านเศรษฐกิจ และอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น ตลอดจนความผันผวนของราคา
นอกจากนี้ ยังเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการกระชับความร่วมมือการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพสูง ในขณะเดียวกันก็ปรับปรุงโครงสร้างของพันธุ์ข้าวที่ปลูกเพื่อกระจายตลาดส่งออกให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาตลาดส่งออกข้าวของเวียดนามจนถึงปี 2573
คาดกาณ์ว่า ในปี 2566 จะมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวทั่วประเทศประมาณ 7.1 ล้านเฮกตาร์ (ประมาณ 45.47 ล้านไร่) โดยมีผลผลิตข้าวเปลือกอยู่ที่ 6.07 ตันต่อเฮกตาร์ ผลผลิตข้าวโดยรวมอยู่ที่ 43.10 ล้านตัน เพิ่มขึ้นประมาณ 0.4 ล้านตันเมื่อเทียบจากปีที่แล้ว จากข้อมูลของกระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบทเวียดนาม ในช่วง 11 เดือนของปี 2566 เวียดนามส่งออกข้าวปริมาณ 7.8 ล้านตัน ที่มีมูลค่าการส่งออกข้าว 4.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
(จาก https://en.vietnamplus.vn/)
ข้อคิดเห็น สคต
ความต้องการข้าวเวียดนามในตลาดโลกอาจมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นมากจากนโยบายควบคุมมการส่งออกข้าวของอินเดีย อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมา การพัฒนาของภูมิภาคยังมีความท้าทายหลายประการ รวมถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การพัฒนาอุตสาหกรรมหนักในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงในช่วงที่ผ่านมาได้เพิ่มขึ้นนำไปสู่มลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมที่รุนแรง โดยเฉพาะมลพิษทางอากาศ ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจึงส่งผลกระทบต่อการเพิ่มผลผลิต รวมทั้งการใช้สารกำจัดศัตรูพืชและปุ๋ยเคมีในการผลิตมากเกินไป ด้วยเหตุนี้รัฐบาลเวียดนามมุ่งแก้ไขปัญหาและสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรแบบยั่งยืน ซึ่งรัฐบาลได้เห็นว่าการสร้างความยั่งยืนให้ข้าวเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องใช้เวลา ความรู้ ความร่วมมือจากหลายภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง เป็นระบบ เพื่อให้เกิดผลสำเร็จทั้งองค์ประกอบด้านคุณภาพ คุณค่า และศักยภาพการแข่งขัน โดยวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ทั้งตลาดข้าวคุณภาพสูง และตลาดข้าวทั่ว ๆ ไป ซึ่งมีคู่แข่งมาก จึงต้องพัฒนานำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการผลิต บนพื้นที่ขนาดใหญ่ในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง พร้อมทั้งวางระบบมาตรฐานการปฏิบัติที่ดีทางการเกษตรลดการใช้สารเคมีในพื้นที่เพาะปลุก เพื่อให้ได้ข้าวที่ปลอดภัย ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่รักสุขภาพและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น