ตามรายงานของหน่วยงาน Foreign Agricultural Service in Manila กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA-FAS Manila) ระบุว่า การนำเข้าผลิตภัณฑ์นมของฟิลิปปินส์คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในปีหน้าตามความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าความต้องการจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 เป็น 3.5 ล้านเมตริกตัน (MT) เทียบเท่ากับนมเหลวในปี 2567 ซึ่งอุปสงค์ในประเทศส่วนใหญ่จะตอบสนองด้วยการนำเข้า เนื่องจาก ฟิลิปปินส์ต้องนำเข้าผลิตภัณฑ์นมถึงร้อยละ 99 ของความต้องการทั้งหมด ทั้งนี้ ด้วยปัจจัยของการขยายตัวของชนชั้นกลางและจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น ทำให้ฟิลิปปินส์เป็นตลาดขนาดใหญ่และกำลังขยายตัว สำหรับผลิตภัณฑ์นม โดยมีการบริโภคต่อหัวต่อปีที่ 27 กิโลกรัม และจากข้อมูลของสำนักงานผลิตภัณฑ์นมแห่งชาติของฟิลิปปินส์ (The National Dairy Authority) ระบุว่าในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ฟิลิปปินส์นำเข้าผลิตภัณฑ์นมปริมาณ 4.46 ล้านตัน โดยสหรัฐอเมริกายังคงเป็นแหล่งนำเข้าผลิตภัณฑ์นมรายใหญ่ที่สุด คิดเป็น ร้อยละ 35 ของปริมาณการนำเข้าทั้งหมด รองลงมาได้แก่ นิวซีแลนด์ (ร้อยละ 21)
นอกจากนี้ USDA คาดว่าในปี 2567 การนำเข้านมเหลว (พร้อมดื่ม) ของฟิลิปปินส์จะสูงถึง 110.00 ตัน เนื่องจากการขยายโครงการ Milk Feeding Program และการบริโภคกาแฟและชานมที่เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งคาดว่านำเข้าผลิตภัณฑ์ Cheese จะเพิ่มขึ้นเป็น 53,000 ตัน และจะมีราคาที่ดีขึ้น ขณะที่ การนำเข้านมผงพร่องมันเนย (Skim Milk Powder) ของฟิลิปปินส์คาดว่าจะมีปริมาณทรงตัว 160,000 ตัน เนื่องจากราคาที่สูงและปัญหาด้านโลจิสติกส์” ทั้งนี้ USDA ยังได้คาดการณ์ว่าผลผลิตนมในประเทศของฟิลิปปินส์จะดีขึ้น โดยจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นเป็น 29,000 ตัน เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของฝูงโคนมและโครงการใหม่ๆ ของรัฐบาล โดยการเติบโตของผลผลิตในประเทศที่ชะลอตัวเกิดขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เนื่องจากไม่สามารถเพิ่มฝูงโคนมได้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นปัญหามาจากเงินทุนไม่เพียงพอและการลงทุนเพียงเล็กน้อยจากภาคเอกชน
ที่มา: หนังสือพิมพ์ Philippine Star
บทวิเคราะห์/ข้อคิดเห็น
ฟิลิปปินส์ถือเป็นตลาดที่ “แข่งขันได้” สำหรับผลิตภัณฑ์นมนำเข้า เนื่องจากแนวโน้มการบริโภคขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่การผลิตนมของฟิลิปปินส์ค่อนข้างจำกัดและอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากการบริหารจัดการที่ไม่ดี ขาดโครงสร้าง พื้นฐานที่เพียงพอ และมีต้นทุนการผลิตสูง ทำให้สามารถผลิตนมในประเทศ ได้เพียงร้อยละ 1 ของความต้องการใช้ทั้งหมด และจากอุปทานในท้องถิ่นที่จำกัดดังกล่าว ส่งผลให้ฟิลิปปินส์เป็นตลาดที่มีการแข่งขันสูงสำหรับการนำเข้าผลิตภัณฑ์นม โดยในแต่ละปี ฟิลิปปินส์จำเป็นต้องนำเข้าผลิตภัณฑ์นมปริมาณมากเฉลี่ยประมาณ 3 ล้านตัน และแม้ว่าปัจจุบันอุตสาหกรรมต่างๆ จะได้รับ ผลกระทบจากปัญหาคอขวดในการขนส่งทั่วโลก และราคาสินค้าที่สูงขึ้น แต่ฟิลิปปินส์ยังคงจำเป็นต้องจัดหาผลิตภัณฑ์นมเกือบทั้งหมดจากประเทศอื่นๆ ในการตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นของประเทศ และจากการคาดการณ์ความต้องการนำเข้าผลิตภัณฑ์นมจะมากขึ้นในปี 2567 จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการส่งออกไทยในการขยายการส่งออกผลิตภัณฑ์นมมายังฟิลิปปินส์ ทั้งนี้ ฟิลิปปินส์เป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 สำหรับนมและผลิตภัณฑ์นมของไทย โดยในปี 2566 (เดือนมกราคม – กันยายน) ไทยส่งออกนมและผลิตภัณฑ์ไปยังฟิลิปปินส์มูลค่า 1,933.86 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.72 จากช่วงเดียวกันของปี 2565 ที่มีมูลค่าส่งออก 1,656.79 ล้านบาท โดยนมและผลิตภัณฑ์นมของไทยได้รับการยอมรับในเรื่องคุณภาพมาตรฐานจากผู้บริโภคชาวฟิลิปปินส์ อย่างไรก็ตาม ก่อนเข้าสู่ตลาดผู้ประกอบการไทยควรศึกษาและวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคชาวฟิลิปปินส์อย่างละเอียดรอบคอบเพื่อประโยชน์ในการนำไปพัฒนาผลิตภัณฑ์และวางกลยุทธ์ทางการตลาดที่เหมาะสม ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญในการเจาะตลาดผู้บริโภคชาวฟิลิปปินส์ ควรเน้นรักษาคุณภาพมาตรฐานสร้างความแตกต่างและแปลกใหม่ รวมถึงสร้างจุดขายด้านนวัตกรรมการผลิตที่ดีต่อสุขภาพในราคาที่จับต้องได้
—————————————
Büro zur Förderung des Außenhandels in Manila
10 พฤศจิกายน 2566