ไม่น่าเชื่อว่าประเทศสิงคโปร์ซึ่งเป็นที่รู้จักในฐานะประเทศที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีนั้น จะมีตลาดแฟชั่นที่มีความโดดเด่นไม่แพ้ใคร ข้อมูลจาก Statista ระบุว่า ในปี 2566 คาดว่าอุตสาหกรรมแฟชั่นสิงคโปร์จะสร้างรายได้ในตลาดถึง 1,530 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ด้วยการเติบโตต่อปีอยู่ที่ 13.06% และคาดว่าจะเติบโตถึง 2,510 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2570 ในปี 2566 การเข้าถึงกลุ่มผู้ใช้คาดว่าจะอยู่ที่ 34.8% และจะเพิ่มเป็น 44.5% ภายในปี 2570 นอกจากนี้ รายได้เฉลี่ยของผู้ซื้อ คาดว่าจะสูงถึง 729.10 เหรียญสหรัฐฯ แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคมีส่วนร่วมเป็นอย่างมากในอุตสาหกรรมแฟชั่นสิงคโปร์

เทรนด์แฟชั่นที่ได้รับความนิยมในสิงคโปร์ปี 2566 มีดังต่อไปนี้

  1. Custom Creations การออกแบบตามกำหนด เทรนด์การตัดเย็บตามแต่ละบุคคล และชุดสูทสั่งทำพิเศษกำลังได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น เพราะเครื่องแต่งกายแบบสั่งทำจะมีความพอดีกับผู้สวมใส่ อีกทั้งยังสามารถเลือกเนื้อผ้า และความมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เทรนด์ดังกล่าวแสดงออกถึงสไตล์การแต่งตัวและความเป็นตัวเองของผู้สวมใส่
  2. The Reign of Streetwear เสื้อผ้า Streetwear ซึ่งมีต้นกำเนิดมาจากวัฒนธรรมการเล่นสเก็ต และแฟชั่นฮิปฮอปในช่วงทศวรรษ 1970 และ 1980 ได้กลายมาเป็นส่วนสำคัญของอุตสาหกรรมแฟชั่นในสิงคโปร์ แบรนด์สิงคโปร์มีส่วนสำคัญในการพัฒนาเทรนด์ดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นเสื้อยืดกราฟฟิก เสื้อมีฮู้ด (Hoodies) ไปจนถึงเดนิมและรองเท้าผ้าใบ ตัวเลือกสินค้ากลุ่มนี้มีมากมายไม่จำกัด สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ที่ชื่นชอบแฟชั่นด้วยการผสมผสานความลำลองแต่โดดเด่น เทรนด์สินค้ากลุ่มนี้จะเห็นได้จากทั้งคนสิงคโปร์และนักท่องเที่ยว ที่ตามหาแบรนด์ Streetwear สิงคโปร์ ไปผสมกับแบรนด์ระดับสากล
  3. Sustainability in Style ความยั่งยืนอย่างมีสไตล์ ความตื่นตัวกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้ส่งผลไปทุกอุตสาหกรรม เทรนด์ความยั่งยืนเป็นหนึ่งในเทรนด์ที่สำคัญของตลาดสิงคโปร์ ด้วยการใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ผ้าฝ้ายออร์แกนิก ผ้าเยื่อไม้ไผ่ และผ้ารีไซเคิล รวมถึงกระบวนการผลิตที่มีจริยธรรม ช่วยลดการปล่อยของเสียและก๊าซคาร์บอนให้น้อยที่สุด ส่งผลให้หลายแบรนด์เสื้อผ้าในสิงคโปร์เริ่มสร้างความยั่งยืนในโมเดลธุรกิจ ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย
  4. Tech-infused Fashion แฟชั่นผสมผสานกับเทคโนโลยี สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีชื่อเสียงด้านความสามารถทางเทคโนโลยี ดังนั้น เทคโนโลยีแฟชั่นจัดว่าเป็นเทรนด์หนึ่งในอุตสาหกรรมแฟชั่นสิงคโปร์ เทรนด์ดังกล่าวเป็นมากกว่าการนำเทคโนโลยีที่สวมใส่ได้ เช่น สมาร์ทวอช แต่เป็นการบูรณาการเทคโนโลยีเข้ากับเนื้อผ้า และนำไปสู่การออกแบบเครื่องแต่งกายที่ใช้งานได้จริงและทันสมัย เช่น เสื้อผ้าที่ปรับตามอุณหภูมิของร่างกาย แต่ยังสวมใส่สบาย และรักษาสภาวะที่เหมาะสมกับผู้ใส่ หรือเสื้อผ้าที่ฝังมาพร้อมกับเซ็นเซอร์จับวัดด้านสุขภาพและการออกกำลังกาย หรือเสื้อผ้าที่สามารถเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนได้ เป็นต้น
  5. Revival of Traditional Prints and Fabrics การกลับมาของผ้าพิมพ์แบบดั้งเดิม นักออกแบบชาวสิงคโปร์ต่างฟื้นฟูเทคนิคเก่าแก่ และผสมผสานเข้ากับสไตล์สมัยใหม่ เช่น การใช้เทคนิคผ้าบาติกแบบดั้งเดิม หรือลายกระเบื้องแบบเปอรานากันมาผสมผสานกับภาพพิมพ์ เทรนด์ดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความต้องการที่จะรักษาประเพณีให้คงอยู่ในแฟชั่นสมัยใหม่ โดยผสมผสานของเก่าและใหม่เข้าด้วยกัน
  6. Athleisure Elevation เสื้อผ้าที่ผสมผสานระหว่างชุดออกกำลังกายและชุดลำลอง เทรนด์นี้ได้รับความนิยมอย่างมากในสิงคโปร์ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงด้านกิจวัตรการทำงาน การให้ความสำคัญกับสุขภาพ และการออกกำลังกายเพิ่มมากขึ้น โดยอาจจะเป็นการผสมผสานองค์ประกอบเสื้อผ้ากีฬาเข้ากับเสื้อผ้าประจำวัน เช่น การสวมกางเกงโยคะกับเสื้อเบลเซอร์ หรือรองเท้าผ้าใบกับชุดเดรส
  7. Bold Accessorizing การเพิ่มเครื่องประดับ ชาวสิงคโปร์ใช้เครื่องประดับเป็นองค์ประกอบสะท้อนให้เห็นถึงสไตล์ของผู้ใส่ และเป็นที่ต้องการมากขึ้นเรื่อย ๆ ในการเสริมเครื่องแต่งกาย ตั้งแต่ต่างหูที่สะดุดตา กระเป๋าขนาดใหญ่ รวมไปถึงผ้าพันคอและเข็มกลัดที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว การเพิ่มเครื่องประดับจะช่วยยกระดับการแต่งตัวที่เรียบง่าย สะท้อนให้เห็นถึงการแสดงออกแต่ละบุคคล และความใส่ใจในรายละเอียดของชาวสิงคโปร์
  8. Unisex Fashion แฟชั่นที่สามารถใส่ได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง ในอดีตแฟชั่นจะแบ่งออกเป็นสำหรับผู้ชายและผู้หญิง แต่ในสิงคโปร์ขอบเขตเหล่านี้เริ่มไม่ชัดเจนมากขึ้น การเพิ่มขึ้นของแฟชั่นแบบ Unisex แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในวงกว้างไปสู่ความเท่าเทียมทางเพศ และเสรีภาพในการแสดงออกที่เพิ่มขึ้นอุตสาหกรรมแฟชั่นเป็นหนึ่งในนโยบาย Soft Power ที่สำคัญของไทย กรมเองได้มีการส่งเสริมนักออกแบบและแบรนด์แฟชั่นไทยสู่ตลาดโลกมาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับปัจจุบัน มีการนำความรู้ นวัตกรรม รวมถึงเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาประยุกต์ใช้ในวงการแฟชั่นไทยอย่างกว้างขวาง และมีการนำเสนอให้เข้ากับเทรนด์ต่างของโลก การสำรวจความนิยม และเทรนด์ตลาดแต่ละประเทศ จะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยเข้าใจผู้บริโภคที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย สามารถพัฒนาสินค้าให้ตรงกับความนิยมในตลาด ซึ่งจะเป็นการช่วยเพิ่มมูลค่าการผลิตและส่งออกของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี
de_DEGerman