ในช่วงปีที่ผ่านมาชาวออสเตรเลียเผชิญกับภาวะค่าครองชีพสูง ซึ่งเกิดจากปัญหาภาวะเงินเฟ้อที่สูงถึงร้อยละ 7.8 ในไตรมาสเดือนธันวาคม 2565 (สูงสุดในรอบ 32 ปี) ส่งผลให้ธนาคารกลางออสเตรเลียปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายถึง 12 ครั้งในรอบ 15 เดือน ค่าเงินเหรียญออสเตรเลียที่อ่อนค่าลงที่ 64.5 เซ็นต์ดอลลาร์สหรัฐฯ ปัจจุบันธนาคารกลางออสเตรเลียคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 4.1 เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อออสเตรเลียลดลง 2 ไตรมาสติดต่อกัน ปัจจุบันดัชนีราคาผู้บริโภคเดือน กรกฎาคมลดลงที่ร้อยละ 4.9 ลดลงจากร้อยละ 5.4 ในเดือนมิถุนายน 2566 มีผลให้อัตราเงินเฟ้อตลอดทั้งปีจนถึงเดือนกรกฎาคมลดลงที่ร้อยละ 5.8 (แตะระดับต่ำสุดในรอบ 17 เดือนที่ผ่านมา) จากการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงร้อยละ 7.6 และราคาผลไม้และผักลดลงร้อยละ 5.4 แม้ว่าราคาค่าไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.7 และราคาค่าเช่าที่พักอาศัยที่เพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 7.6 ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา แต่ภาคครัวเรือนได้รับเงินกองทุนช่วยเหลือจากภาครัฐเพื่อบรรเทาค่าครองชีพ (ช่วยเหลือค่าพลังงานตั้งแต่ 43.75 – 250 เหรียญออสเตรเลียในเดือนกรกฏาคมผ่านมา)
สำนักงานสถิติแห่งชาติออสเตรเลีย เปิดเผย การเติบโตทางเศรษฐกิจออสเตรเลียไตรมาสเดือนมิถุนายน 2566 อยู่ที่ร้อยละ 0.4 (ขยายตัว 7 ไตรมาสติดต่อกัน) และขยายตัวร้อยละ 3.4 ต่อปี โดยมีการลงทุนในประเทศที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 จากการลงทุนในการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านบริการสาธารณสุข/คมนาคมขนส่งและการป้องกันประเทศของภาครัฐที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.2 (เช่น โครงการ Snowy2.0, Western Sydney Airport, Inland Rail, Sydney’s new metro และ Brisbane’s Cross River Rail) การลงทุนด้านเครื่องจักรกลและยานพาหนะของภาคเอกชนเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3 รวมถึงการส่งออกภาคบริการขยายตัวร้อยละ 12.1 จากการส่งออกด้านบริการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.5 เป็นกลไกกระตุ้น
ด้านการส่งออกสินค้าของออสเตรเลียเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 เนื่องจากสถานการณ์ความแออัดบริเวณท่าเรือขนส่งเริ่มคลี่คลายลง ทำให้การส่งออกสินค้าเหมืองแร่และสินค้าเกษตรมีสภาพคล่องมากขึ้น การนำเข้าสินค้าของออสเตรเลียลดลงเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.2 การใช้จ่ายภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.1 ผู้บริโภคเน้นการซื้อสินค้าของใช้ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวัน ผลจากเงินออมภาคครัวเรือนที่ลดลงต่อเนื่องอยู่ที่ร้อยละ 3.2 (ลดลง 7 ไตรมาสติดต่อกันแตะระดับต่ำสุดตั้งแต่ไตรมาสเดือนมิถุนายน 2551) ทำให้ยอดค้าปลีกในตลาดออสเตรเลียลดลงที่ร้อยละ 0.5 อย่างไรก็ตาม การซื้อรถยนต์ใหม่ของภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.8 ภาคธุรกิจเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2 เนื่องจากความต้องการซื้อรถยนต์ในตลาดออสเตรเลียยังมีสูงหลังวิกฤต COVID-19
การจ้างงานในตลาดแรงงานออสเตรเลียยังคงคึกคัก (อัตราการจ้างงานในตลาดแรงงานสูงสุดเป็นประวัติการณ์) ส่วนใหญ่เป็นการจ้างงานแบบเต็มเวลา (Full-time) ทำให้อัตราการว่างงานลดลงที่ร้อยละ 3.5 ซึ่งเป็นผลจากการขาดแคลนแรงงานที่ยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง
เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2566 ธนาคารกลางออสเตรเลียคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 4.1 (3 เดือนติดต่อกัน) เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ก่อนที่นาย Philip Lowe ผู้ว่าการธนาคารกลางออสเตรเลียจะหมดวาระในวันที่ 17 กันยายน 2566 โดยมีนาง Michele Bullock ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ว่าการธนาคารกลางออสเตรเลียหญิงคนแรกแทน คาดว่า ธนาคารกลางออสเตรเลียอาจพิจารณาปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นอีก เพื่อควบคุมภาวะเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับที่ตั้งเป้าไว้ที่ร้อยละ 2-3
………………………………………………….
Königlich Thail. Generalkonsulat, Büro für internationale Handelsförderung in Sydney-Stadt
ที่มา:
Australian Bureau of Statistics
www.abc.net.au