การสร้างฟาร์มปลาเพาะเลี้ยงสองแห่งในสิงคโปร์เลื่อนไปอย่างไม่มีกำหนด

โอกาสการส่งออกปลาทะเลมายังประเทศสิงคโปร์

หลังจากในเดือนพฤษภาคม 2565 ได้มีการปรึกษาหารือสาธารณะเพื่อประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และเพื่อพิจารณาความเหมาะสมของผืนน้ำทางตอนใต้ทั้งหมดสามแห่งของสิงคโปร์ ได้แก่ เกาะ Pulau Satumu, Pulau Bukom และ Pulau Jong ที่อุดมด้วยความหลากหลายทางชีวภาพสำหรับการสร้างฟาร์มปลาเพาะเลี้ยงเพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตอาหารในสิงคโปร์ สำนักงานอาหารสิงคโปร์ (Singapore Food Agency : SFA) ได้เลื่อนการประกวดราคาพื้นที่ทะเลสำหรับการสร้างฟาร์มเลี้ยงปลาใกล้กับแนวปะการังขนาดใหญ่บริเวณเกาะ Pulau Satumu และ Pulau Jong จนกว่าจะมีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการปรึกษานักวิจัย และกลุ่มคนรักธรรมชาติ (Nature Groups) จะเสร็จสิ้นอย่างไม่มีกำหนด

 

การสร้างฟาร์มปลาเพาะเลี้ยงสองแห่งในสิงคโปร์เลื่อนไปอย่างไม่มีกำหนด

SFA กล่าวว่า การศึกษาการสร้างแบบจำลองทางนิเวศวิทยาเหล่านี้จะครอบคลุมถึงผลกระทบที่เป็นไปได้ต่อปะการังในพื้นที่ โดยการเปลี่ยนแปลงคุณภาพน้ำที่อาจจะเกิดจากการทำฟาร์ม และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในขณะเดียวกัน SFA วางแผนที่จะเรียกประกวดราคาในช่วงปลายปี 2566 สำหรับกิจกรรมเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในเกาะที่สาม Pulau Bukom ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเคมี การพัฒนาพื้นที่แถบ Bukom จะดำเนินการต่อไป เนื่องจากมีปะการังอาศัยอยู่น้อย และการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในปี 2565 ระบุว่า พื้นที่มีความหลากหลายทางชีวภาพที่สำคัญอื่นๆ ในบริเวณใกล้เคียงจะไม่ได้รับผลกระทบ พื้นที่ดังกล่าวจะถูกกำหนดให้เป็นระบบเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแบบปิดแห่งแรกในน่านน้ำทางตอนใต้ของสิงคโปร์ จะเข้าร่วมกับพื้นที่เพาะเลี้ยงปลากระชังแบบเปิดในน่านน้ำทางตอนใต้ของ Pulau Semakau, Pulau Senang และ St John’s Island ซึ่งดำเนินการโดย Barramundi Group

 

การสร้างฟาร์มปลาเพาะเลี้ยงสองแห่งในสิงคโปร์เลื่อนไปอย่างไม่มีกำหนด

 

นาย Matthew Tan ประธานร่วมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในภาคการเกษตรและการประมงของหุ้นส่วนนโยบายความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิกว่าด้วยความมั่นคงทางอาหารกล่าวว่า ระบบกักกันแบบปิดคาดว่าจะก่อมลพิษน้อยกว่ากระชังแบบเปิดที่ฟาร์มปลาส่วนใหญ่ใช้ เนื่องจากอุจจาระปลาและอาหารปลาที่มากเกินไปไม่ได้ถูกปล่อยลงทะเลโดยตรง และการควบคุมน้ำอย่างเต็มรูปแบบยังช่วยลดปัญหาปลาในฟาร์มกักกันแบบปิดที่แพร่กระจายโรคไปยังบริเวณโดยรอบ อย่างไรก็ตาม อาจเป็นเรื่องยากที่จะให้ชาวประมงที่อาศัยในทะเลแถบนั้นประมูลพื้นที่ Pulau Bukom ท่ามกลางต้นทุนด้านพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น เพราะว่าฟาร์มกักกันแบบปิดนอกชายฝั่งต้อใช้พลังงานมากขึ้นในการสูบน้ำและกรองน้ำ ระบบดังกล่าวใช้น้ำมันดีเซลอาจนำไปสู่การปล่อยคาร์บอนที่สูงขึ้น

 

ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ

การแสวงหาพื้นที่การผลิตในประเทศเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายความมั่นคงทางอาหาร 30×30 ของรัฐบาลสิงคโปร์ที่พยายามผลักดันให้เกิดการเพิ่มผลผลิตอาหารในประเทศให้ได้ร้อยละ 30 ของความต้องการทางโภชนาการในประเทศภายในปี 2573 ท่ามกลางภัยคุกคามที่เพิ่มขึ้นของการหยุดชะงักของอุปทานจากแหล่งนำเข้า ข้อมูลจาก Global Trade Atlas ระบุว่า ในปี 2566 (ม.ค.-พ.ค.) สิงคโปร์นำเข้าปลาจากไทยมากเป็นอันดับ 6 คิดเป็นมูลค่า 1.14 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากมูลค่าการนำเข้าปลาทั้งหมด ดังนั้นจึงเป็นโอกาสดีสำหรับผู้ประกอบการไทยที่มีความสนใจในการส่งออกปลามายังสิงคโปร์ ทั้งนี้ สำหรับผู้ประกอบการที่ควรศึกษาวิธีการข้อกำหนดด้านกฎระเบียบ การนำเข้าสินค้าอาหารของสิงคโปร์[1] ความปลอดภัยในกระบวนการผลิต การแปรรูป เพื่อการผลิตและส่งออกที่ได้มาตรฐานและติดตามสถานการณ์แนวโน้มตลาดของสินค้าดังกล่าว เพื่อแสวงหาโอกาสในการขยายตลาดต่อไป

 

แหล่งที่มาภาพ/ข้อมูล : StraitsTimes : https://www.straitstimes.com/singapore/environment/sfa-delays-plans-to-set-up-fish-farms-at-2-sites-over-coral-reef-concerns

กฎระเบียบการนำเข้าสินค้าอาหารของสิงคโปร์ – https://www.sfa.gov.sg/food-import-export/commercial-food-imports

de_DEGerman