จับตาความร่วมมือผลิตแบตเตอรี่รถไฟฟ้าออสเตรเลีย-อินโดนีเซีย

ในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2566 นาย Joko Widodo ประธานาธิบดีอินโดนีเซียเดินทางเยือนออสเตรเลียอย่างเป็นทางการ (ในการประชุมผู้นำประจำปี) เพื่อหารือร่วมกับนาย Anthony Albanese นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย เกี่ยวกับศักยภาพในความร่วมมือด้านการผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถไฟฟ้าเพื่อรองรับตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในออสเตรเลียที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง การเสริมสร้างความเข้มแข็งในความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ด้านความร่วมมือในการป้องกันความขัดแย้ง ส่งเสริมความมั่นคงและสันติภาพในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก และยกระดับความเป็นพันธมิตรด้านการค้า การลงทุนร่วมกัน

อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีทรัพยากรที่ใช้ในการผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถไฟฟ้าและได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างประเทศในการเข้ามาลงทุนผลิตรถไฟฟ้าในอินโดนีเซียเพื่อเป็นฐานการส่งออก เนื่องจากที่ผ่านมา อินโดนีเซียยกเลิกการส่งออกแร่นิเกิล (Nickel) แร่ Bauxite และแร่ Cobalt ซึ่งเป็นแร่สำคัญที่ใช้ในการผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถไฟฟ้า การยกเลิกการส่งออกสินแร่ที่ยังไม่ผ่านการแปรรูป มีผลให้ปี 2563 นักลงทุนจีนเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมแปรรูปสินแร่ในอินโดนีเซีย และบริษัทผู้ผลิตรถไฟฟ้าหลายราย เช่น รถไฟฟ้า Hyundai ของเกาหลีใต้และรถไฟฟ้าจากจีน ได้มาตั้งฐานการผลิตรถไฟฟ้า (รวมถึงการร่วมทุนกับรัฐวิสาหกิจในการผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถไฟฟ้าด้วย) ในอินโดนีเซียมากขึ้น

อินโดนีเซียมีแผนจะนำเข้าแร่ลิเทียมจากออสเตรเลียเพื่อขยายตลาดเกิดใหม่ในภูมิภาค เนื่องจากออสเตรเลียมีแร่ลิเทียมจำนวนมากและรัฐบาลออสเตรเลียมีแผนจัดตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถไฟฟ้าในประเทศ โดยจัดสรรเงินทุนงบประมาณประจำปี 2566 มูลค่า 50 ล้านเหรียญออสเตรเลียเพื่อการแปรรูปสินแร่ที่ผลิตได้ แต่ออสเตรเลียยังไม่มีแผนผลิตรถไฟฟ้าในประเทศ การลงนามความร่วมมือด้านการเป็นห่วงโซ่การผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถไฟฟ้าร่วมกัน จึงถือว่าเป็นความร่วมมือที่เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งสองฝ่าย

นอกจากความร่วมมือด้านการผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถไฟฟ้าแล้ว ออสเตรเลียจะพิจารณาผ่อนคลายการอนุมัติวีซ่าสำหรับนักเดินทางอินโดนีเซียให้ง่ายและเร็วขึ้น (นักเรียน/นักศึกษาและวีซ่าทักษะ) ขยายวีซ่าสำหรับนักธุรกิจอินโดนีเซียจาก 3 เป็น 5 ปี การร่วมลงทุนด้านเทคโนโลยีพลังงานสะอาดเพื่อแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน (ออสเตรเลียจัดสรรเงินลงทุนมูลค่า 33 ล้านเหรียญสหรัฐสนับสนุนผู้ประกอบการอินโดนีเซียที่มีนโยบายลดภาวะโลกร้อนและพลังงานสะอาดภายใต้ Australia-Indonesia Climate and Infrastructure Partnership) และความร่วมมือด้านการศึกษา ระบบสุขภาพ/สาธารณสุขและเทคโนโลยี Digital

ปี 2565 ที่ผ่านมา อินโดนีเซียเป็นตลาดส่งออกอันดับที่ 10 ของออสเตรเลียมีมูลค่าการค้าสองฝ่ายรวม 12.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยสินแร่เป็นสินค้าส่งออก 5 อันดับแรกที่ออสเตรเลียส่งออกไปอินโดนีเซีย ส่วนใหญ่เป็นสินแร่เหล็ก มูลค่าการส่งออกปี 2565 ลดลงเล็กน้อย คาดว่า ความร่วมมือในการผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถไฟฟ้าร่วมกันจะช่วยยกระดับมูลค่าการส่งออกสินค้าทรัพยากรธรรมชาติออสเตรเลียและการลงทุนเพิ่มขึ้นด้วย เนื่องจากออสเตรเลียมีการลงทุนในอินโดนีเซียมูลค่ารวม 524.4 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจาก 195.2 ล้านเหรียญรัฐในปี 2564

de_DEGerman