การขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ ขยายตัวสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือนมีนาคม 2025 เนื่องจากภาคธุรกิจเร่งนำเข้าสินค้าก่อนที่มาตรการภาษีนำเข้าของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะมีผลบังคับใช้ ซึ่งส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) หดตัวในไตรมาสแรกเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เปิดเผยเมื่อวันอังคารที่ 6 พ.ค. 2025 ว่ามูลค่าการนำเข้าของสหรัฐฯ ในเดือนมีนาคมเพิ่มขึ้น 4.4% อยู่ที่ 419,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ การส่งออกเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 278,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้สหรัฐฯ ขาดดุลการค้า 140,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 14% จากเดือนก่อน และเพิ่มขึ้นมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ในเดือนกุมภาพันธ์
รายงานจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ระบุว่า สหรัฐฯ ได้นำเข้าสินค้าจาก 10 ประเทศในปริมาณสูงสุดเป็นประวัติการณ์ อย่างไรก็ตาม การนำเข้าสินค้าจากจีนลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 5 ปี และอาจลดลงต่อไป หลังจากประธานาธิบดีทรัมป์ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนถึง 145% แม้ว่าสหรัฐฯ จะระงับการเก็บภาษีต่างตอบแทนกับประเทศคู่ค้าส่วนใหญ่เป็นเวลา 90 วัน แต่ภาษีสินค้านำเข้าจากจีนได้เริ่มมีผลบังคับใช้ในต้นเดือนเมษายน 2025 และจุดชนวนให้เกิดสงครามการค้าระหว่างสองประเทศ
นาย Christopher Rupkey หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากบริษัทวิจัยตลาดการเงิน FWDBONDS กล่าวว่า “ธุรกิจต่างๆ กำลังพยายามเร่งปรับตัวในช่วงเวลาแห่งความเปลี่ยนแปลงที่ไม่เคยมีมาก่อนนี้ แต่สิ่งที่เลวร้ายที่สุดยังมาไม่ถึง เพราะการเก็บภาษีนำเข้าอย่างจริงจังยังไม่เริ่มดำเนินการ แม้จะมีการประกาศ ‘วันปลดแอก’ ในวันที่ 2 เมษายน 2025 ที่ผ่านมา แต่จนถึงตอนนี้ ยังไม่มีข้อตกลงการค้าใดๆ ในยุคทรัมป์ 2.0 ”
จากตัวเลขการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นนั้น พบว่าตัวเลขการนำเข้าเฉพาะสินค้าเพิ่มขึ้น 5.4% นำไปสู่สถิติใหม่ที่ 346,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยได้รับแรงหนุนจากสินค้าอุปโภคบริโภคที่พุ่งขึ้น 22,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือเป็นระดับสูงสุด โดยตัวเลขการนำเข้าส่วนใหญ่มาจากการนำเข้ายาและเวชภัณฑ์
การนำเข้าสินค้าทุนเพิ่มขึ้น 3,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสะท้อนจากการเติบโตของการนำเข้าอุปกรณ์เสริมคอมพิวเตอร์ การนำเข้ารถยนต์และชิ้นส่วนเพิ่มขึ้น 2,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยส่วนใหญ่มาจากการนำเข้ารถยนต์นั่งส่วนบุคคล อย่างไรก็ตาม การนำเข้าสินค้าอุตสาหกรรมลดลง 10,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมาจากการลดลงของโลหะรูปทรงสำเร็จและทองคำที่ไม่ใช่เพื่อการเงิน ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้การนำเข้าเพิ่มขึ้นในสองเดือนก่อนหน้า ในขณะเดียวกันการนำเข้าน้ำมันดิบลดลง 1,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
การส่งออกของสหรัฐเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย
การส่งออกเพิ่มขึ้น 0.2% เป็น 278,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยการส่งออกสินค้าขยายตัว 0.7% สู่ระดับ 183,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2022 โดยได้แรงหนุนจากสินค้าประเภทวัตถุดิบอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้น 2,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติและทองคำที่ไม่ใช่เพื่อการเงิน
การส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วนเพิ่มขึ้น 1,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่การส่งออกสินค้าทุนลดลง 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากการส่งออกเครื่องบินพาณิชย์ลดลง 1,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้การขาดดุลการค้าสินค้าพุ่งขึ้น 11.2% สู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 163,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือนมีนาคม
รัฐบาลสหรัฐฯ รายงานเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่าการขาดดุลการค้าทำให้ GDP ลดลงถึง 4.83 จุดเปอร์เซ็นต์จากไตรมาสที่แล้ว ซึ่งทำให้เศรษฐกิจสหรัฐไตรมาสที่ 1 หดตัวในอัตรา -0.3% ถือเป็นการหดตัวครั้งแรกนับตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2022
ประธานาธิบดีทรัมป์มองว่าการขึ้นภาษีเป็นเครื่องมือในการเพิ่มรายได้เพื่อชดเชยการลดภาษีที่สัญญาไว้ และเพื่อฟื้นฟูภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ ที่ซบเซามายาวนาน นักเศรษฐศาสตร์คาดว่าปริมาณการนำเข้าสินค้าจะเริ่มชะลอลงภายในเดือนพฤษภาคม ซึ่งอาจช่วยให้ GDP ฟื้นตัวในไตรมาสที่สอง อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์ก็เตือนว่าการส่งออกอาจลดลงเช่นกัน เนื่องจากประเทศอื่นๆ เริ่มคว่ำบาตรสินค้าสหรัฐฯ และลดการท่องเที่ยวสหรัฐฯ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากแคนาดาที่ลดการเดินทางเข้ามาในสหรัฐฯ เพื่อตอบโต้มาตรการภาษี การกวาดล้างผู้อพยพ และคำพูดของประธานาธิบดีทรัมป์เกี่ยวกับการผนวกแคนาดาและกรีนแลนด์ ทั้งนี้ ปริมาณการส่งออกภาคบริการลดลง 0.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สู่ระดับ 95,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือนมีนาคม 2025 โดยได้รับผลกระทบจากบริการด้านการท่องเที่ยวที่ลดลง 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ความเร่งรีบนำเข้าสินค้าก่อนถูกเก็บภาษีทำให้การนำเข้าสินค้าจากเม็กซิโก สหราชอาณาจักร ไอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี อินเดีย และเวียดนาม ต่างแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ อย่างไรก็ตาม การนำเข้าสินค้าจากจีนอยู่ในระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2020 ซึ่งเป็นช่วงที่ทั่วโลกเผชิญกับการระบาดระลอกแรกของโควิด-19 การนำเข้าจากจีนลดลง 7% อยู่ที่ 29,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ การขาดดุลการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนลดลง 15% เหลือ 17,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากภาคธุรกิจชะลอการสั่งซื้อ หลังจากที่ประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนทั้งหมดเป็น 20% เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม เนื่องจากนโยบายการค้าที่ไม่แน่นอนของรัฐบาล บางบริษัทยังคงเร่งนำเข้าสินค้าจากจีนล่วงหน้า เช่น สินค้าประเภทชิ้นส่วนรถยนต์และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภค
นาย Matthew Martin นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของ Oxford Economics กล่าวว่า “อัตราภาษี 20% เพิ่มเติมจากสินค้านำเข้าจีนที่เริ่มบังคับใช้ในเดือนมีนาคมเริ่มส่งผลกระทบ ทำให้สัดส่วนการนำเข้าจากจีนลดลงต่ำที่สุดในรอบ 25 ปี แม้จะมีข้อยกเว้นบางส่วน แต่อัตราภาษีเฉลี่ยก็พุ่งเกิน 100% ในเดือนเมษายน ซึ่งจะทำให้สัดส่วนการนำเข้าจากจีนลดลงอย่างรวดเร็ว”
การนำเข้าจากเวียดนามในเดือนมีนาคมเพิ่มขึ้น 23% อยู่ที่ 14,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่อินเดียเพิ่มขึ้น 34% สู่ระดับ 11,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งทั้งสองประเทศทำสถิติสูงสุดใหม่ การนำเข้าจากเวียดนามที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้ขาดดุลการค้ากับประเทศนี้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 13,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 24% จากเดือนกุมภาพันธ์ ขณะที่การนำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้น 46% อยู่ที่ 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
นักเศรษฐศาสตร์เตือนถึงความเสี่ยงของภาวะเศรษฐกิจถดถอย และความไม่แน่นอนดังกล่าวทำให้การลงทุนทางธุรกิจชะงักลง มีแนวโน้มว่าการค้ากับประเทศในเอเชียจะชะลอตัวลงในระหว่างที่รัฐบาลต่าง ๆ พยายามเจรจาข้อตกลงการค้ากับสหรัฐฯ
นาง Priyanka Kishore ผู้ก่อตั้งบริษัทที่ปรึกษาทางธุรกิจ Asia Decoded ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวนิกเกอิ เอเชียว่า “การส่งออกของอาเซียนไปยังสหรัฐฯ มีแนวโน้มจะรีเซตระดับลดลงเมื่อมาตรการภาษีเริ่มมีผล แม้จะมีข้อตกลงการค้า อัตราภาษีพื้นฐานที่ 10% ดูเหมือนจะยังคงอยู่ และอาจมีภาษีเพิ่มเติมเฉพาะในบางอุตสาหกรรม สิ่งนี้จะส่งผลต่อความต้องการสินค้าต่างประเทศของสหรัฐฯ เว้นแต่ผู้ส่งออกจะดูดซับต้นทุนไว้ทั้งหมดหรือกระจายต้นทุนไปยังภูมิภาคอื่นเพื่อหลีกเลี่ยงการผลักภาระราคาสินค้าเพิ่มขึ้นอย่างมากต่อตลาดผู้บริโภคสหรัฐฯ ทันที”
ตั้งแต่มีการขึ้นภาษี 20% สำหรับสินค้าจีนในเดือนมีนาคม ประธานาธิบดีทรัมป์ได้เพิ่มอัตราภาษีรวมเป็น 145% สำหรับสินค้านำเข้าจากจีน ประเทศเศรษฐกิจใหญ่อันดับสองของโลก สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนส่งผลกระทบต่อการขนส่งสินค้าในระดับที่ไม่เคยเห็นตั้งแต่ช่วงโควิด-19 และคาดว่าการค้าระหว่างสองประเทศจะหยุดชะงัก คำสั่งซื้อเพื่อการส่งออกและกิจกรรมภาคการผลิตของจีนลดลงในเดือนเมษายน ตามข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน อัตราภาษี 145% สำหรับสินค้านำเข้าจากจีนทั้งหมดกำลังกดดันผู้ผลิตจีนอย่างรุนแรงและอาจนำไปสู่การปลดพนักงานในโรงงานทั่วประเทศ จีนได้ตอบโต้การขึ้นภาษีของประธานาธิบดีทรัมป์ด้วยการเก็บภาษี 125% สำหรับสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ พร้อมออกมาตรการควบคุมการส่งออกแร่ธาตุสำคัญที่ใช้ในแบตเตอรี่ และจีนประกาศว่าจะไม่มีวันยอมก้มหัวต่อสหรัฐฯ เด็ดขาด แต่ก็เปิดกว้างต่อการเจรจา
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ก
ข้อมูลอ้างอิง Reuters, Wall Street Journal, Nikkei Asia